รายงานพิเศษ: ประเมินกำลังซื้อที่อยู่อาศัย แม้สัญญาณดีขึ้น แต่คนยังไม่มั่นใจศก.

02 เม.ย. 2567 303 0

 

         ประเมินกำลังซื้อและความต้องการที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 ผ่านงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 ซึ่งจัดโดย 3 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ท่ามกลางมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เพียงมาตรการเดียวคือ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากปกติ 2% เหลือ 1% และจดจำนอง จากปกติ 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567

         โดยนายภูมิภัทร พรหมมา ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 เปิดเผยว่า ตลอดการจัดงาน 4 วัน ตั้งแต่ 21-24 มี.ค. 2567 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าครั้งที่ผ่านมาถึง 30% และมียอดจองซื้อที่อยู่อาศัยภายในงานสูงขึ้นกว่าครั้งก่อนทะลุเป้า 4,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าหลังจบงานจะมียอดขายตามมาอีก ไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่าตัว หรือคิดเป็นมูลค่า ต่อยอดจากการจัดงานมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในงานยังมียอดการขอสินเชื่อสูงถึง 2,000 ล้านบาทด้วย

         จากการสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าชมงาน พบว่าที่อยู่อาศัย 3 ลำดับแรก ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดได้แก่ คอนโดมิเนียม คิดเป็น 42% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 23% และทาวน์เฮาส์ 16% ที่เหลือเป็นสินค้าประเภทบ้านแฝด อาคาราณิชย์และอื่นๆ

          โดยบมจ.แสนสิริ ระบุว่า สามารถปิดยอดขายจากการร่วมงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 ได้กว่า 800 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขายได้ 700 ล้านบาท จากทั้งหมด 74 โครงการที่นำไปร่วมงาน พร้อมโปรโมชั่น ข้อเสนอ 3 ต่อ จองเริ่มต้น 0 บาท รับโปรฯ ลดสูงสุด 2 ล้านบาท และดอกเบี้ย 2.9% นาน 3 ปี

          ทางด้าน บมจ. ศุภาลัย ซึ่งนำบ้านและคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ทั่วประเทศ รวมกว่า 200 โครงการ สามารถทำยอดขายบ้านและคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ได้เกินเป้าหมายโดยอยู่ที่กว่า 250 ล้านบาท ภายใน 4 วัน

         ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ออริจิ้น เวอร์ติเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า บริษัทสามารถทำยอดขายบ้านและคอนโดมิเนียมรวมกันกว่า 550 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายคอนโดมิเนียม 67% และบ้านจัดสรร 33%



         ทั้งนี้ นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า ราคาที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศไทย ในไตรมาส 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 96 จุด เป็น 97 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ก็ปรับขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน

         ขณะที่วิเคราะห์ถึงความต้องการซื้อกลับปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง จากไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 71 จุด เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 83 จุด และเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าอยู่ที่ 94 จุด

          ส่วนภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยในฝั่งของราคาก็ยังเติบโตขึ้น แม้ว่าความต้องการซื้อจะชะลอตัวลง ทั้งนี้ คงต้องติดตามภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ว่าจะเติบโตขึ้นในทิศทางใดและจะทำให้ความต้องการของผู้บริโภคดีขึ้นหรือไม่

          โดยถ้าเทียบกับข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2567 เริ่มเห็น การหยุดชะลอตัวของความต้องการซื้อ โดยสัญญาณความต้องการซื้อดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเพิ่งฟื้นจากโควิด ดังนั้นคงต้องจับตาว่าในไตรมาส 2 ความต้องการซื้อจะฟื้นตัวได้แค่ไหน

          สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อลดลง จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคมีความพร้อมที่จะซื้อมากกว่าช่วงต้นปี แต่ที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะไม่มั่นใจเศรษฐกิจ ทำให้ตัดสินใจอยู่อาศัยกับพ่อแม่ไปก่อน ส่วนผู้ที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ก็ยังไม่ตัดสินใจซื้อบ้านหลังที่ 2 เพิ่ม (จากความจำเป็นอยู่ใกล้ที่ทำงาน) ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคคิดมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

          ส่วนเหตุผลของผู้บริโภคที่ต้องการเช่าที่อยู่อาศัยไปก่อน เหตุผลหลัก เพราะมีเงินออมไม่สูงพอ ส่วนผู้บริโภคที่มองว่าราคาที่อยู่อาศัยแพง และเลือกที่จะเช่าไปเรื่อยๆ พบว่าเติบโตขึ้นมากจาก 21% เป็น 31%

          ขณะที่มีบางส่วนที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยสูง จึงเลือกเช่ามากกว่าซื้อ ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายประเมินว่ามีแนวโน้มปรับลดลงในครึ่งปีหลังนี้ ตลาดซื้อขายที่อยู่อาศัยจะกลับมาคึกคักมากขึ้น ประกอบกับคนที่มีเงินออมอยู่แล้ว แต่กังวลเรื่องดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากครึ่งปีหลังภาครัฐมีการเบิกงบประมาณประจำปี 2567 ออกมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจมีผลต่อการเด้งตัวขึ้นของความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

          ขณะที่ภาพรวมตลาดเช่าที่อยู่อาศัย พบว่าดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ปรับตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ฟื้นตัวจากโควิด โดยไตรมาส 4 ปี 2566 เติบโตถึง 18% YoY และเติบโต 6% QoQ ขณะที่มาดูความต้องการเช่าพบว่า ตกลง -25% YoY และ -27% QoQ ซึ่งเป็นไปได้ว่าบางพื้นที่มีความต้องการเช่าสูง บางพื้นที่ความต้องการลดลง

          ทั้งนี้ จากการศึกษาความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบว่า 43% ตั้งใจที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปีถัดไป นอกจากนี้ ประมาณ 88% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้นเพื่อซื้อบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

 

ที่มา: