รมว.คลังชี้3ปัจจัย หนุนจีดีพี66โต คาดปี67ตั้งงบ ขาดดุล5.9แสนล.
รมว.คลังชี้3ปัจจัยหนุนจีดีพีโต คาดงบปี’67ตั้งขาดดุล5.9แสนล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจปี 2566” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจวันที่ 15 ก.พ. 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับการขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่า จะชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้
“พลังขับเคลื่อนปีนี้คงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนมีความหมายต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมาตรการของรัฐ คือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ขณะที่มาตรการด้านการบริโภคภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย จึงได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืนสูงสุด 40,000 บาท ซึ่งอยากให้มากกว่า แต่ต้องดูขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้” นายอาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมี แต่ด้านฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง
“วันนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 60.67% ต่อจีดีพี ซึ่งหากใช้เกณฑ์เดิมเกินมา 0.67% วันที่ปรับเพดานเพื่อความปลอดภัยในเรื่องข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีพื้นที่เราต้องกู้หมด เราต้องดูโครงการที่ยังมีโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐที่อาศัยเงินกู้ การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ค้ำประกันจึงไม่ได้เป็นหนี้สาธาณะ จึงต้องดูให้ดีว่าเป็นการก่อหนี้เพื่ออะไร แต่หนี้ส่วนใหญ่ 80% เป็นเรื่องของการลงทุนและมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว เราบริหารในเรื่องการเงินการคลัง การประสานงานกันระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท.” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ยืนยันว่า การใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลงทุน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในอนาคต ส่วนในเรื่องงบประมาณในปี 66 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 ตั้งงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 66 ที่ 102,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก
“การตั้งงบประมาณต้องวางแผนให้มีเหตุมีผล เมื่อไหร่ที่ขาดดุลนานจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังยืนยันตลอด คือ นโยบาย การคลังที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่นก็ทำลักษณะเดียวกัน เมื่อโควิดหมด ต้องทำนโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายอาคมกล่าว
ด้านการดำเนินนโยบายนั้น ยืนยันว่า นโยบายการเงิน และการคลังต้องสอดประสานและทำงานร่วมกัน โดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำ นโยบายการเงินนั้น ต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา