ฟันธงแบงก์กำไรพุ่งยกแผง จับตา รัสเซีย-ยูเครน ดันหนี้เสียปูดQ2
โบรกฯประเมินกำไรแบงก์ไตรมาส 1/2565 โตยกแผง ฟันธงรายได้ สินเชื่อพุ่ง-ตั้งสำรองลด “บล.ทิสโก้” คาด 7 แบงก์กำไร 4.9 หมื่นล้าน ขณะที่ “บล.ไพน์ เวลท์ฯ” ชี้ไตรมาสแรกกำไรแบงก์โตดี ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 เจอความเสี่ยงสถานการณ์ขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” ผลกระทบเต็มไตรมาส ฟาก “บล.เคทีบีเอสที” ให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” ชี้ผลกระทบ S&P หั่นเครดิตเรตติ้ง 4 แบงก์ กระทบราคา ประเมินฐานทุนแบงก์แกร่งดูแลลูกหนี้ได้
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมาณการผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2565 ของธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง คาดการณ์กำไรสุทธิรวมที่ 48,990 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 21.7% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)
โดยปัจจัยหลัก ๆ ในการเติบโต YOY ของกำไรแบงก์มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของสินเชื่อและการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งคาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อแบงก์ไตรมาสแรกจะ โตได้ 5.6% YOY และ 0.1% QOQ ส่วนการตั้งสำรอง คาดว่าลดลง 0.15% QOQ มาอยู่ที่ 1.42% เนื่องจากมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และแบงก์มีการบริหารหนี้ได้ดี ทั้งนี้ ประเมินรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไว้ที่ 2.79% ลดลงเล็กน้อย 0.03% QOQ
“ส่วนการเติบโต QOQ หลัก ๆ มาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลงและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ระดับ 3.93% ส่วนสาเหตุที่กำไรธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) หดตัว QOQ นั้น มาจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกไปในช่วงไตรมาส 4/2564 ทำให้รับรู้กำไรเข้ามา แต่ไตรมาสแรกปีนี้ไม่มี”
นายอภิชาติกล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางกำไรแบงก์ช่วงไตรมาส 2/2565 จะมีความท้าทายจากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น จากแรงกดดันของลูกหนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ฉะนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละแบงก์ในการบริหารคุณภาพหนี้ได้ดีต่อเนื่องหรือไม่
ขณะที่ นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิแบงก์ครอบคลุม 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) และ KKP ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะอยู่ที่ 40,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% YOY และเพิ่มขึ้น 20% QOQ ซึ่งหลัก ๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อและสำรองหนี้ที่ลดลง ขณะที่ หนี้เสียปรับขึ้นบ้างแต่ไม่มาก ระดับ NPL Ratio ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงไตรมาส 4/2564
“คาดว่าเอ็นพีแอลไตรมาส 1/2565 อาจจะอยู่ที่ 3-5% เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน ส่วนทิศทางรายได้ค่าธรรมเนียมประเมินจะดรอปลง ทั้ง YOY และ QOQ เพราะช่วงไตรมาส 4/2564 แบงก์มีรายได้ธุรกิจด้านการเงินอื่น อาทิ ประกัน, หลักทรัพย์, กองทุน ซึ่งเป็นไฮซีซั่นในการซื้อหน่วยลงทุน ขณะที่ไตรมาสแรกปีที่แล้วจะมีกำไรจากเงินลงทุนเข้ามา แต่ไตรมาสแรกปีนี้ไม่มี”
นายธนเดชกล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/2565 กำไรแบงก์จะมีความท้าทายมากขึ้นจากผลกระทบความขัดแย้ง รัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลัก ที่จะเข้ามาเต็มไตรมาส จากปัจจัยเงินเฟ้อที่สูง กดดันต้นทุนการผลิตด้านราคาน้ำมัน วัตถุดิบอาหาร ราคาปุ๋ย และการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่สามารถทำได้ปกติ
ประกอบกับเทรนด์แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยีลด์) ปรับขึ้นตาม ส่งผลให้ธุรกิจที่ระดมทุนออกหุ้นกู้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่รวมการขึ้นค่าแรงที่จะตามมาในอนาคต ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นเร็วและแรงเกินไป อาจกระทบกำลังซื้อประชาชนและจะเกิดปัญหาหนี้เสียตามมาได้ เพราะลูกหนี้ต้องกู้เงินด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” โดยคาดการณ์กำไรแบงก์ 7 แห่ง ได้แก่ BBL, KBANK, KKP, SCB, ttb, ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YOY และเพิ่มขึ้น 18% QOQ จากสำรองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง โดยธนาคารที่โตได้ทั้ง YOY และ QOQ คือ SCB, BBL, KBANK, ttb ส่วนหนี้เสียรวมไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาอยู่ที่ 3.21% จากไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 3.11% เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต่ออายุถึงเดือน ธ.ค. 2566
“บล.เคทีบีเอสที คาดกำไรแบงก์จะยังโตต่อไปในปี 2566 ที่ 9% เพราะแนวโน้ม สำรองที่ลดลงจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญมามากแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”
บล.เคทีบีเอสที ระบุด้วยว่า ราคาหุ้นแบงก์ underperform ดัชนี SET Index ติดลบ 4% ใน 1 เดือน จาก S&P ดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้ง 4 แบงก์ แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาเกี่ยวกับฐานทุนของกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ พบว่าฐานทุนมีความเพียงพอต่อการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มีในปัจจุบัน ทำให้มองเป็นจังหวะเข้าซื้อสะสม ด้านมูลค่าหุ้นยังถูก ทั้งนี้ ยังคงแนะนำซื้อ KBANK ราคาเป้าหมาย 172 บาท เพราะเป็นแบงก์ที่เน้นดิจิทัลรายแรกและยังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำ และแนะนำซื้อ SCB ราคา เป้าหมาย 150 บาท จากการเป็น tech company ซึ่งจะทำกำไรได้เพิ่มขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ