พิษดอกเบี้ยขาขึ้นทุบกำลังซื้อฉุดที่อยู่อาศัยราคาต่ำ 3 ล้านสะดุด

16 ต.ค. 2566 264 0

 

          พิษดอกเบี้ยขาขึ้น ทุบกำลัง อดตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำ 3 ล้านสะดุด กระทบตลาด 2.5-3% แนะยกเลิกมาตรการ LTV ชั่วคราว 2 ปี

          หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปีนั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจได้ผลกระทบ ต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

          นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา เวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลต่อต้นทุนของภาคเอกชน รวมถึงประชาชนด้วยจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นส่งผลให้มีหนี้เพิ่มขึ้นทำให้กำลังซื้อลดลง ในภาคอสังหาฯ ดอกเบี้ย 1% ที่ปรับขึ้นจะกระทบฝั่งดีมานด์ 8% ฝั่งซัพพลาย ได้รับผลกระทบ 2-4% รวมแล้วดอกเบี้ย 1% จะกระทบตลาดอสังหาฯ ประมาณ 10-12% แสดงว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ผลกระทบอยู่ประมาณ 2.5-3% ของตลาด

          โดยการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลให้กำลังซื้อของคนลดลง ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ดีมานด์ซัพพลายห่างกัน 2.5-3% สิ่งสำคัญตอนนี้คือทุกคนอยากรู้ว่าดอกเบี้ยจะหยุดเมื่อไร แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยหยุดเงินเฟ้อ แต่จะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เดินหน้าต่อไปทำได้ยากขึ้น ที่สำคัญเป็นการเติมตลาดอสังหาฯ ในตลาดล่างที่มีระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องกู้เงินมาซื้อที่อยู่อาศัยเกือบ 100% ไม่มี ใครมีเงินสดมาซื้อบ้าน ขณะที่ตลาดบนอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีเงินออม มีสภาพคล่องมากกว่า ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในมุมของผู้ประกอบการไม่ทันกับเงินเฟ้อ

          ดังนั้นมาตรการระยะสั้นที่ควรทำคือการยกเลิกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV ออกไปเป็นการชั่วคราว 2 ปี เพื่อลดผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจดีขึ้นค่อยนำมาพิจารณาอีกครั้งและต้องยอมรับว่า ปีนี้ตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ท้าทายตลาดอสังหาฯ ปีนี้ที่ส่งผลต่อบ้านและคอนโดมิเนียม ระดับล่างราคากว่า 3 ล้านบาท มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาล้านต้นๆ สูงกว่า 50% สวนทางกับต้นทุนอสังหาฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นปัจจัยลบที่กระทบตลาด ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงหันมาทำตลาดบ้านระดับกลาง-บนมากกว่าบ้านและคอนโดฯ ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่มีปัญหาด้านกำลังซื้อ พฤกษาได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยการหันมาโฟกัสบ้านหรูราคา 10-30 ล้านบาทมากขึ้นเพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น

ที่มา: