พลิกวิกฤต โควิด-19 อัพสกิล-เตรียมคน ป้อนอุตฯอีอีซี

01 ก.ค. 2563 1,181 0

 

           เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวที Recover Forum เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20169 หรือ โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงทิศทางการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ยุคโควิด-19



          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในเวทีดังกล่าว ว่าประเทศไทยโชคดีที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของอีอีซีได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เช่นกัน แต่ยังเชื่อมั่นว่าแผนการลงทุนใน อีอีซียังไปถึงเป้าหมายเหมือนเดิม เพียงแค่ขยายเวลาออกไปเพื่อทดแทนในช่วงที่ได้รับผลกระทบ



          “อย่างไรก็ตาม จากการที่จีนฟื้นประเทศได้เร็ว ส่งผลให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย พลิกกลับมาดี มีการนำเข้าทุเรียน มังคุด และข้าว ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนและมังคุดทำรายได้ได้ดี ข้าวราคาดี เพราะเราเร่งการส่งออกทันทีที่มีโอกาส นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรม 5G กลุ่มโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ กลุ่มการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย ธุรกิจชุมชนที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมสุขภาพดี เป็นต้น ซึ่งต้องมีการหารือเพื่อการต่อยอดให้เป็นเรื่องเป็นราวต่อไป” เลขาธิการอีอีซีกล่าว  นายคณิศกล่าวว่า สำหรับมาตรการสำคัญที่ได้มีการหารือกันในคณะกรรมการอีอีซีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย การหารือถึงการให้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, การขยายตลาดส่งออกกับประเทศที่มีการฟื้นตัวเร็ว เช่น ซีแอลเอ็มวี (CLMV) จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น, การบรรเทาปัญหาการว่างงาน การจัดหางานภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม, การฝึกอบรมทักษะความรู้ที่มีความจำเป็นในอนาคต เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ (Reskill-Upskill) โดยถือโอกาสในวิกฤตครั้งนี้เตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้เต็มที่เพื่อรองรับการกลับมาเดินเครื่องของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการกำลังคนทักษะสูงขึ้น, การสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ดึงคนไทยที่จากเดิมที่เดินทางไปเที่ยวแต่ต่างประเทศให้กลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น, การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การสร้างตลาดสด แหล่งน้ำ, สนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชน ในการลงพื้นที่เก็บและหาข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสำมะโนประชากร เป็นต้น



          นายคณิศกล่าวว่า ขณะนี้อีอีซีอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศในประเด็นความร่วมมือในการสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร หรือบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครข้าราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่มีความไม่สะดวกในด้านการหาบริการตรวจสุขภาพ และยังอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการร่วมกันพิจารณากำหนดประเทศต้นทางและจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ในแต่ละช่วงเวลา การร่วมกันกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine: FAQ ให้บุคลากรที่เดินทางเข้ามาสามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ ภายใต้หลักการการกักกัน การร่วมกันพิจารณาการขึ้นทะเบียน เพื่อเป็น Alternative State Quarantine: ASQ เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี โดยมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาประเทศต้นทางได้ เพื่อความสะดวกในการดูแลสุขภาพ



          “ในช่วงโควิด-19 อีอีซีได้รับผลกระทบเรื่องการทำงาน พวกเราทำงาน Work From Home กัน 100% แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ประชุมทางไกล (VDO Conference) กลับทำให้เราเจอซีอีโอจากทั่วโลก ที่โดยสภาวะปกติเราไม่มีโอกาสได้เจอคนเหล่านั้น แต่โควิด-19 ทำให้ได้มาประชุมร่วมกันจำนวนมหาศาล เชื่อว่าการประชุมลักษณะนี้จะมีต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งเป็นวิถีใหม่ทั่วโลก ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราได้กลับมาจากวิกฤตนี้ คือ อุตสาหกรรมใหม่ที่มีทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เข้ามาคุยและสนใจการลงทุนเรื่องดิจิทัลมากขึ้น” เลขาธิการอีอีซีกล่าวด้าน นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากำลังคน ตลอดจนให้ความมั่นใจในการผลิตกำลังคนตอบโจทย์ประเทศ ว่าขณะนี้ อว.ได้ดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนากำลังคนในทุกมิติ ทั้งการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาออกแบบหลักสูตรเสริมทักษะฝีมือระยะสั้น-ระยะยาว ผ่านโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการหางานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19 โดย อว.สนับสนุนค่าลงทะเบียน 95-100% และเป็นหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์, โครงการจัดตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานหลักสูตรและหน่วยฝึกอบรมเพื่อการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package สำหรับสถานประกอบการ



          “โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ที่มีทักษะเข้าข่ายตามประกาศกำหนด Future Skills Set หรือทักษะความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ต้องการตามประกาศของ อว.สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีได้ 1.5-2.5 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อรองรับการยกระดับทักษะของบุคลากรภายในประเทศให้มีทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการวางระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทั้งในรูปแบบของการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรระดับปริญญา นอกจากนี้ ในระยะ 3-6 เดือน อว.ยังได้สนับสนุนการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ หรือคนว่างงานลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างงานและให้นักศึกษามีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย” นาย กิติพงค์กล่าว



          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หลายประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมถึงอินเดียลดการผลิตลงเกือบ 100% หากดูแลตรงนี้ได้ก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทย แต่ต้องผ่อนคลายมาตรการด้านการส่งออกเพิ่มขึ้น และยังต้องเตรียมพัฒนากำลังคนทั้งคนเดิมและที่จะเข้ามาใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง

 

ที่มา: