ผู้โดยสารระบบรางทุบสถิติ1.3ล้าน 

30 ส.ค. 2565 420 0

         แซงทะลุ1.2ล้านก่อนโควิด เก็บตังค์‘สายสีเขียว’ไม่ลด

          นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ ทั้งรถไฟ, รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS, รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันจันทร์-ศุกร์ จากเฉลี่ย 1.12 ล้านคนต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 1.14 ล้านคนต่อวัน จนกระทั่งบางวันเพิ่มเป็น 1.25 ล้านคนต่อวัน และเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ทำนิวไฮผู้โดยสารสูงสุด 1.30 ล้านคนต่อวัน ถือเป็นตัวเลขผู้โดยสารที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.22 ล้านคนต่อวัน

          นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. ปริมาณผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบ อยู่ที่ 1,305,317 คน ประกอบด้วย รถไฟฟ้า BTS 759,039 คน , รถไฟฟ้า MRT 401,223 คน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) 65,677 คน, รถไฟ 59,891 คน และรถไฟระบบชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 19,487 คน และ หากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน หลังผ่อนคลายมาตรการเพื่อรองรับการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ อยู่ที่ประมาณ 9.43 แสนคนต่อวัน ยังน้อยกว่าช่วงปี 62 ประมาณ 23%

          นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันศุกร์ ซึ่งบางวันสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ปัจจัยส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการจราจรติดขัด จึงทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะระบบราง ซึ่งเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีความสะดวก รวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ขร. ได้กำชับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบเตรียมความพร้อม อาทิ ขบวนรถ และการปรับเพิ่มความถี่ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ

          นายพิเชฐ ยังกล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (14-44 บาท ตั้งแต่กลางเดือนนี้ และตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 59 บาท) ด้วยว่า มั่นใจว่าหากมีการเก็บค่าโดยสารตามที่ กทม. ระบุ ปริมาณผู้โดยสารน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นการเดินทางที่สะดวก และรวดเร็วมาก อีกทั้งปัจจุบันการจราจรของถนนด้านล่างรถไฟฟ้าเส้นทางส่วนต่อขยาย ยังมีปัญหาการจราจรติดขัดค่อนข้างมาก ดังนั้นการเก็บค่าโดยสารจึงไม่น่าจะส่งผลทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง.

 

ที่มา: