ปี2564คาดยอดขายวัสดุก่อสร้างโต0.2-1.9%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2564 ยอดขายร้านค้าวัสดุก่อสร้าง อาจฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีก่อนประมาณ 0.2-1.9% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 8.03-8.17 แสนล้านบาท โดยมีแรงหนุนจากความต่อเนื่องของการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่อาจเติบโต 3.3-4.7% ซึ่งชดเชยการชะลอการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวประมาณ -6% ถึง -3.8% ทำให้ มูลค่าการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐและเอกชนคาดว่าจะอยู่ที่ 13.3-13.4 แสนล้านบาท ในปี 2564
ท่ามกลางการชะลอการลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2564 ก็ยังจะมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่ามีการลงทุน ได้แก่ ที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ที่เป็นที่ต้องการของการอยู่อาศัยจริงและมาจากความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น สินค้าที่น่าจะได้รับผลเชิงบวก ได้แก่ กลุ่มสินค้าโครงสร้าง ปูนซีเมนต์ เหล็ก โครงสร้างคอนกรีตสำเร็จรูป (Pre-Cast) และสินค้าตกแต่ง เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
แรงกดดันด้านเศรษฐกิจและการแข่งขัน ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกรายย่อยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในปี 2564 ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีฐานลูกค้าหลากหลายและสามารถเติมเต็มการให้บริการได้อย่างครบวงจร จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ ซึ่งกลุ่มร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ (Modern Trade) และกลุ่มผู้ประกอบการค้าส่งที่ได้รับอานิสงส์จากงานภาครัฐ มีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่ากลุ่มอื่น แต่เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวที่มาจากฐานที่ต่ำและยังมีความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้ต้องมีการปรับตัว โดยร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ได้มีการเริ่มปรับตัวขายสินค้าด้วยช่องทางออนไลน์และมีบริการเสริมมากขึ้น
ในขณะที่ร้านค้าปลีกรายย่อยยังคงเจอโจทย์ที่ท้าทายเนื่องจากยอดขายพึ่งพาลูกค้าในบริเวณท้องถิ่นเป็นกำลังซื้อหลัก และการแข่งขันที่รุนแรงจากสภาพเศรษฐกิจและความสามารถการแข่งขันที่ลดลง ดังนั้น เพื่อที่จะอยู่รอด จำเป็นที่จะต้องปรับตัวด้วยการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ผ่านจุดแข็งด้านความสัมพันธ์กับผู้รับเหมา ท้องถิ่น การขายสินค้าด้วยเครดิตหรือการรวมกลุ่มกันระหว่างร้านค้าเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยสามารถใช้จุดแข็งของตนเองในเรื่องของความสัมพันธ์กับลูกค้าท้องถิ่นและการแนะนำคุณลักษณะสินค้าและวิธีการติดตั้งหรือใช้งานให้ถูกต้องเพื่อที่ลูกค้าจะได้กลับมาซื้อในระยะยาว ทั้งนี้อาจจะเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในร้านโดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Partnership) กับร้านค้าปลีกย่อยอื่นๆ เพื่อตกลงกันถึงการฝากขายหรือการแนะนำลูกค้าให้กัน เพื่อเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในร้านและลดปริมาณเงินที่ลงทุนไปกับการซื้อสินค้าคงคลัง
ในอนาคตคาดว่าผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างเริ่มมีแนวโน้มขายสินค้าตรงโดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่ายมากขึ้นโดยผ่านช่องทางออนไลน์ สังเกตได้จากตัวเลขการลงทุนและยอดขายของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทของประเทศไทย ความคุ้นเคยของผู้ซื้อและการซื้อขายด้วยเครดิตของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้การซื้อสินค้าผ่านทางตัวแทนจำหน่ายจะยังคงเป็นช่องทางหลักต่อไป แต่ผู้ประกอบการน่าจะยังคงหาทางเชื่อมช่องทางการขายสินค้าทั้ง 2 เข้าด้วยกันเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและเป็นการเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการคงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างช่องทางจำหน่ายเดิม (ผ่านตัวแทนจำหน่าย) และการลงทุนในช่องทางออนไลน์ โดยพิจารณาจากฐานลูกค้าเป้าหมายและการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของตนเอง เนื่องจากวัสดุก่อสร้าง เป็นสินค้าที่เฉพาะเจาะจงและมีรายละเอียดซับซ้อนและแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มสินค้า ซึ่งแม้สัดส่วนการขายผ่านออนไลน์อาจค่อยๆ เพิ่ม แต่ก็คงเพราะมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ และยังคงเน้นไปที่สินค้าที่ซับซ้อนน้อยเป็นหลักก่อน
ในส่วนของเทรนด์วัสดุก่อสร้างสำหรับอนาคตที่ร้านค้าอาจจะเริ่มเตรียมศึกษาเพื่อนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาขายมากขึ้น คาดว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจภาวะโลกร้อนและภาวะมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ประเทศต่างๆ เช่น ยุโรปและจีน เริ่มมีการนำวัสดุก่อสร้างรักษ์โลกมาใช้และมีการเตรียมกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ เพื่อควบคุมและลดการปล่อยก๊าซ CO2 สาเหตุมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้างทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จึงเข้ามาควบคุมมากขึ้น โดยสินค้าและ รูปแบบการก่อสร้าง ที่คาดว่าน่าจะมีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ได้แก่หลังคาโซลาร์เซลล์, คอนกรีตคาร์บอนต่ำ, การผลิตเหล็กที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ, วัสดุทางเลือกทดแทนไม้ และอาจจะรวมถึงการ พรินต์คอนกรีต 3 มิติ โดยการใช้งานและความแพร่หลายจะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ หน่วยงานกำกับมาตรฐานวิศวกรรม ความคุ้มทุนของผู้ผลิตและความต้องการของผู้บริโภค
ที่มา: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น