บีโอไอ ชงต่ออายุ1ปี มาตรการลงทุน อีอีซี

07 ธ.ค. 2564 455 0

          ชนาภา ศรจิตติโยธิน

          กรุงเทพธุรกิจ


          เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ถือเป็นพื้นที่ลงทุนสำคัญที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะให้กับผู้ลงทุนในอีอีซี ซึ่งต้องการให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และการลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ โดยจะสิ้นสุดมาตรการ ในสิ้นเดือน ธ.ค.2564 และกำลังจะเสนอต่อมาตรการอีก 1 ปี ในการประชุมคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนวันที่ 20 ธ.ค.2564

          ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนระยะ 7 ปี (2558-2564) มีการขยายเวลาเพิ่มเป็น 8 ปี เพื่อให้กรอบเวลาสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉะนั้นแผนที่มีอยู่เดิมจะมีการขยายเวลาให้สิ้นสุดลงในปี 2565 หลังจากนั้น บีโอไอจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริม การลงทุนใหม่ทั้งสิ้น เริ่มต้นใช้งานในปี 2566

          สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ที่หมดอายุสิ้นปี 2564 จะเสนอต่ออายุมาตรการ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งสุดท้ายของปีนี้

          “อีอีซียังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการกระตุ้น ให้เกิดการลงทุน และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินโครงการสำเร็จ พื้นที่อีอีซี จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

          สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีอีซี แบ่งเป็น 2 เกณฑ์ และเลือกดำเนินการทั้ง 2 เกณฑ์ ควบคู่กันหรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งได้ ดังนี้

          กรณีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงทุนในกิจการเป้าหมาย โดยต้องมีความร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาตามรูปแบบที่กำหนด ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WL) สหกิจศึกษาและทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นตามที่ได้รับความเห็นชอบจากบีโอไอ โดยต้องยื่นแผน ความร่วมมือในการรับนักเรียนหรือนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ โดยมีจำนวนนักเรียนหรือนักศึกษา ที่จะรับเข้าฝึกอาชีพไม่น้อยกว่า 1% ของจำนวน พนักงานทั้งหมดในโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า

          สำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 5-8 ปี อยู่แล้ว จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 3 ปี และสำหรับกิจการกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย และกลุ่มสนับสนุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเพื่อมเติม 2 ปี

          กรณีแบ่งตามสถานที่ตั้งโครงการ ในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษในอีอีซี ดังนี้ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

          เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ดิจิทัล (EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา (EECmd) และเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน)

          สำหรับกิจการที่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 2 ปี ส่วนกิจการกลุ่มพัฒนา เทคโนโลยีเป้าหมายและกลุ่มสนับสนุนรวมถึง กรณีตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมอีอีซีจะได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี

          ทั้งนี้ กิจการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการ พิเศษ 4 แห่ง ดังกล่าว ไม่มีกำหนดระยะเวลา สิ้นสุดในการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน

          ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มี 348 โครงการ เงินลงทุน 173,780 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 49 โครงการ มูลค่าการลงทุน 27,800 ล้านบาท จ.ชลบุรี 132 โครงการ มูลค่าการลงทุน 54,310 ล้านบาท และ จ.ระยอง 67  โครงการ มูลค่าการลงทุน 91,640 ล้านบาท

          สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า บีโอไอ ควรให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ อย่างไรก็ดีเสนอแนะให้บีโอไอ มีการทำงานเชิงลึกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เข้าถึงกลุ่ม SMEs ไทยมากขึ้น ในกลุ่มธุรกิจ อาทิ เครื่องสำอาง แฟชั่น สุขภาพ และสมุนไพร โดยยืดหยุ่นประเภทธุรกิจ ที่ได้รับการส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้และปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0

          ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนที่ผ่านมาได้ต่ออายุและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ดังนี้

          1.มาตรการส่งเสริมการลงทุน เศรษฐกิจฐานราก จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 120% ของ เงินสนับสนุน หรือให้ได้รับวงเงินยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมวงเงิน 120% ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี โดยเงินลงทุน ที่ใช้สนับสนุนต้องไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดย ต้องสนับสนุนท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อราย

          ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการมีส่วนร่วม สนับสนุนองค์กรท้องถิ่นพัฒนากิจการเกษตร ที่ยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถ การแข่งขันด้านการผลิตหรือให้บริการขององค์กรท้องถิ่นหรือชุมชนในกิจการด้าน การเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและกิจการท่องเที่ยวชุมชน

          2.มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs  โดยมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุม ภาคการผลิตและบริการ ดังนี้ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือ เป็นวงเงิน 200% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ตามประเภทกิจการ หากลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 1 ปี เมื่อลงทุนใน 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเพิ่ม 3 ปี สำหรับกลุ่มธุรกิจ A1 และ A2 รับลดหย่อยภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 50% อีก 5 ปี

          สำหรับคุณสมบัติของ SMEs ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า  51% และมีรายได้ของกิจการ ทั้งกิจการที่ได้รับ การส่งเสริมบีโอไอและไม่ได้บีโอไอ รวมกันต่อปี ไม่เกิน 500 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก

ที่มา: