บิ๊กดาต้าเมือง ปูทางสมาร์ทซิตี้
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย แนะอีอีซี ทุ่มงบลงพื้นที่ให้ความรู้สมาร์ทซิตี้ สำรวจความต้องการของประชาชน พร้อมจัดทำ บิ๊กดาต้าพัฒนาเมืองเหมาะสมกับพื้นที่
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคม อสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า การพัฒนา สมาร์ทซิตี้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก (อีอีซี) มองว่าพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นั้นมีพื้นที่ใหญ่กว่า ประเทศสิงคโปร์หลายเท่า แต่งบประมาณในการสนับสนุนในการสำรวจเพื่อวางแผนการทำสมาร์ทซิตี้ ยังมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับ ประเทศสิงคโปร์ที่มีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณมหาศาลทำให้สิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการก้าวสู่ สังคมเมืองดิจิทัล ขณะที่พื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่กว่า 1 หมื่นตารางกิโลเมตร ใช้ งบประมาณน้อยกว่ามาก อาจทำให้การพัฒนา ไปสู่สมาร์ตซิตี้จะต้องใช้เวลายาวนาน
ประกอบกับ พระราชบัญญัติเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ได้ล็อกและชี้นำว่าเมืองจะต้องเป็นไป ในทิศทางใด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การวางผังเมือง และถนนต่างๆ จำเป็นต้อง ดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. โดยที่ยังไม่ได้มีการศึกษาที่ชัดเจน ซึ่ง โดยปกติแล้วต้องมีการศึกษาพื้นที่ ทำประชามติและเวนคืนที่ดินอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุน เช่น นักลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่สามารถ วางแผนการลงทุนได้ เนื่องจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถระบุเขตแนวที่ชัดเจน ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ภาครัฐ และเอกชนได้ตื่นตัวในเรื่องสมาร์ทซิตี้ มากขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ได้จัดอบรมใน “หลักสูตร ซีซีไอโอ ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม” ทำให้เห็นภาพกว้างของการพัฒนาเมือง ซึ่งก็มีความยากง่ายของการพัฒนาอยู่หลายระดับ แต่ก็เป็นประโยชน์ในการ นำไปใช้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าความเข้าใจเรื่องสมาร์ทซิตี้ของคนทั่วไปยังมีน้อย หากนำข้าราชการบางกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มาเรียนรู้คำว่าสมาร์ทซิตี้ใหม่อาจต้องใช้ระยะเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึง สมาร์ทซิตี้มักจะนึกถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามา ใช้กับเมือง เช่น ติดกล้องวงจรปิด เป็นต้น ทั้งที่ ในความเป็นจริงสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้อง เริ่มต้นพัฒนาที่คนก่อน
เช่น การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านอุปกรณ์หรือสมาร์ทโฟน สามารถป้อนข้อมูล รวมไว้เป็นดาต้าเบส หรือบิ๊กดาต้าของเมือง และจำเป็นต้องอยู่ในระบบคลาวด์ที่ทุกหน่วยงานสามารถใช้ดาต้าเบสรวมกันได้ และควรมีหน่วยงานกลางในการกำหนดมาตราฐานการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีการ ส่งเสริมการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายๆ เมืองยังไม่เข้าใจ เรื่องสมาร์ทซิตี้เท่าที่ควร และไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง จึงทำให้การดำเนินการยังไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ไม่จำเป็น จะต้องดำเนินการเหมือนเมืองที่ ประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากแต่ละเมือง มีความต้องการที่แตกต่างกัน
สมาร์ทซิตี้ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนเมืองที่ ประสบความสำเร็จแล้วเนื่องจากมีความต้องการที่ต่างกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ