บังคับแล้ว ดอกเบี้ย3% ผิดนัดคิด5%

12 เม.ย. 2564 583 0

          ลูกหนี้เงินกู้หายใจคล่องขึ้น พ.ร.ก.คิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่มีผลบังคับใช้แล้วมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 กรณีคู่สัญญาไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย หรือไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจน จากเดิมให้คิดร้อยละ 7.5 ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2468 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 3 และปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือร้อยละ 5 ต่อปี เป้าหมายเพื่อลดภาระของลูกหนี้ ช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กช่วงโควิด แต่ไม่รวมดอกเบี้ยบ้านบัตรเครดิต ไฟแนนซ์รถ หรือเงินกู้ที่ทำสัญญาชัดเจน

          กรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่ถูกลงกว่าเดิม ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เผยว่า ราชกิจจานุเบกษาประกาศการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่มีผลบังคับใช้วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยที่เรียกต่อกันในกรณีคู่สัญญามิได้กำหนดไว้ในสัญญา หรือไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจน กฎหมายใหม่ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เดิมมาตรา 7 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ใช้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ใช้มาตั้งแต่ปี 2468 ในอดีตอาจเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมขณะนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปอัตราดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ต้องถือว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายสูงมาก เป็นภาระหนักของลูกหนี้ และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กฎหมายยังใช้ในกรณีการผิดนัดชำระหนี้ด้วย มักใช้กับการเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายกรณีละเมิด มีหลายคดีประวิงคดีเพื่อให้ดอกเบี้ยเดินในอัตราร้อยละ 7.5 ดอกเบี้ยดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารหลายเท่า

          สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ 1.กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จากเดิม 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และเพื่อให้กฎหมายมีชีวิตสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ กำหนดให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทุก 3 ปี ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มีผลให้ลูกหนี้ที่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้มีภาระดอกเบี้ยลดลงเป็นธรรมยิ่งขึ้น 2.ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 5 ต่อปี มีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญาต่างๆลดลง ดอกเบี้ยผิดนัดค่าเสียหายคดีละเมิดลดลง

          3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้เฉพาะต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น ที่ผ่านมาเมื่อผิดนัดจะคำนวณเงินต้นเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระ เป็นภาระแก่ลูกหนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พ.ร.ก.ใหม่นี้ยังกำหนดให้ในสัญญาใดที่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งหมด ให้ข้อตกลงส่วนนั้นเป็นโมฆะทันที ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 4.การคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่นี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบการคิดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ หมายความว่า เจ้าหนี้ยังคิดดอกเบี้ยแบบเดิมได้จนถึงวันที่ 10 เม.ย. หลังจากนั้นให้คิดตามกฎหมายใหม่

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.แล้ว ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกส 2.9/2563 เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป ประกาศดังกล่าว ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เหมาะสม และฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ควรสอดคล้องกับภาระหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระตามจริง เพื่อสร้างวินัยและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้คืน ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้จนเกิดเป็นหนี้เสีย และธนาคารต้องเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

          ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีมีข้อสงสัยว่า เมื่อกฎหมายแก้ไขใหม่ให้เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 3 แต่ทำไมหนี้ผิดนัดบัตรเครดิตยังคิดได้ร้อยละ 24-28 ซึ่งสูงมาก ขออธิบายว่า เป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากประกาศของสถาบันการเงินภายใต้การควบคุมของ ธปท. ดังนั้น ดอกเบี้ยบัตรเครดิตยังเหมือนเดิม ส่วนดอกเบี้ยออกรถใหม่ป้ายแดงเรียกกันว่า ดอกเบี้ยไฟแนนซ์ อันนี้อยู่ภายใต้กรอบของสถาบันการเงินเช่นกัน เช่นเดียวกับสัญญากู้ทั่วไปที่คู่สัญญาตกลงกันชัดเจน หรืออยากเอาเงินเขาต้องยอมตกลงดอกเบี้ยตามนั้น อันนี้เหมือนเดิมแต่ไม่เกินร้อยละ 15 รวมทั้งดอกเบี้ยกู้บ้าน สัญญาตกลง ดอกเบี้ยกันชัดเจนไม่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศใช้ใหม่

ที่มา: