ธอส.แนะคนกู้ซื้อบ้านล็อกดอกเบี้ย มั่นใจปล่อยสินเชื่อใหม่2.6แสนล.
ธอส.เตือนคนกู้ซื้อบ้าน รีบตัดสินใจล็อกต้นทุน หลังดอกเบี้ยเงินกู้ครึ่งปีหลังขึ้นแน่นอน คงไม่ได้เห็นโปรฯ สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 2-3 ปีแรกอีก พร้อมดูแลพอร์ตสินเชื่อ คาดมีผลให้ภาระเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท จ่อขึ้นเงินฝาก รักษาสภาพคล่อง เผยส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อบ้านพุ่ง 43.4% ใกล้เคียงพอร์ตแบงก์พาณิชย์ ลั่นปีนี้ทำผลงานได้ 2.6 แสนล้านบาท ลุ้นมีโอกาสแตะ 3 แสนล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในงานสัมมนา “Property Inside 2022” ในหัวข้อเรื่อง “วิกฤต COVID สู่ไฟสงคราม “อสังหาฯ ไทย” จะไปทางไหน? สถานการณ์จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากการขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ล้วนมีผลกระทบ ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาถึงความสามารถในการได้รับชำระคืนสินเชื่อด้วย เนื่องจากช่วงที่เกิดโควิด-19 กระทบทำให้รายได้ประชาชนหายไป ซึ่งรัฐบาลและธอส.ได้มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่ผลกระทบใหม่ที่เข้ามา คือ ต้นทุนที่ปรับขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากพลังงาน
“ผลกระทบทั้งสอง เวลากระทบไม่ใช่กระทบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลุ่มกำลังซื้อระดับกลางและบน ไม่ถูกกระทบมากนัก ประกอบกับช่วงโควิด อสังหาฯ ก็มีการระบายโครงการออกมา และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการผ่อนคลายเรื่องมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือ LTV มีนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วย แต่มาตรการต่างๆ เหล่านั้น เข้ามาช่วยในเรื่องผลกระทบจากรายได้ที่หายไปจากโควิด ตอนนี้เราเริ่มฟืน เราก็มากังวลเรื่อง อัตราดอกเบี้ย ที่ชัดเจนแล้วว่า ขึ้นแน่นอน จะบอกว่าไม่ขึ้น ก็ฝืนความจริงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยต่ำและต่ำทั่วโลก แต่ตอนนี้เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าถอยหลังไปที่ปี 2558 ดอกเบี้ยนโยบายเคยอยู่ที่ 1.50% การที่อยู่ระดับ 1.25-1.50% เราเคยอยู่ระดับนั้นมาแล้ว ก็คิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมาก แต่เราขอให้ดอกเบี้ยทยอยขึ้นทีละขา” นายฉัตรชัย กล่าว
ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้ จะไม่มีโปรโมชัน สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 2-3 ปีแรกอีกต่อไป เช่น คงที่ 2% คงที่ 3% แต่โปรโมชันสินเชื่ออาจเป็นแบบกึ่งลอยตัว โดยอ้างอิงกับดอกเบี้ย MRR ในตลาด ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่คนไทยยังจะมีโอกาสที่เข้ามากู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและคงที่ได้อยู่ ซึ่งใครอยากจะมีบ้านต้องรีบตัดสินใจไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยจะขึ้นแน่นอน
ขณะที่ในฟากของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ก็ต้องปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษางบการเงินของธนาคาร ไม่ให้เงินฝากไหลไปสู่ธนาคารอื่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารอาคารสงเคราะห์จะต้องมีการปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากควบคู่กัน
“เราได้เตรียมรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ในฐานะธนาคารัฐ เราบริหารภาวะอัตราดอกเบี้ยไม่ให้กระทบกับลูกค้า เช่น ไม่ปรับขึ้นแรงเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ การขยับไปขึ้นดอกเบี้ยอีกทีภายในต้นปี 2566 ซึ่งแนวทางดังกล่าว ทำให้ ธอส.อาจต้องรับภาระประมาณ 1,000 ล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับบทบาทการสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยนั้น ธอส.มีศักยภาพในการดูแลผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โครงการบ้านล้านหลัง ก็มีส่วนกระตุ้นให้ภาคเอกชนผลิตที่อยู่อาศัยเข้ามาให้กับผู้ซื้อ ในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งธนาคารอนุมัติไปแล้ว 50,000 ล้านบาท และจากบทบาทการเข้ามาปล่อยสินเชื่อ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธอส.เพิ่มมาอยู่ที่ 43.4% ห่างจากส่วนแบ่งของธนาคาพาณิชย์ไม่ถึง 5% และคาดว่าแนวโน้มจะเกินส่วนแบ่งการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่า หากดอกเบี้ยคลี่คลายและผลกระทบจากต้นทุนสงครามนิ่ง ก็จะเห็นว่า ธนาคารจะมีการปรับตัวอย่างไร และในอนาคต เชื่อว่า ธนาคาพาณิชย์จะกลับมามีบทบาทปล่อยสินเชื่อมากขึ้น “จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อไป 2.26 แสนล้านบาท ครึ่งปีแรกทำได้ 1.54 แสนล้านบาท คาดว่าทั้งปี อาจปล่อยได้ 2.6 แสนล้านบาท หรือ 3 แสนล้านบาท แต่ต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยด้วย
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา