ธปท.เล็งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กังวลปรับช้าเสี่ยงสูง-เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง

14 มิ.ย. 2565 362 0

          ธปท.เล็งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป หวั่นปรับดอกเบี้ยช้าเสี่ยง อาจทำให้ใช้เกณฑ์แรงสกัด พร้อมออกมาตรการช่วยคนจนได้รับผลกระทบ จับตาบาทอ่อนซ้ำเติมเฟ้อพุ่งต่อ

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลักๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศ อื่นๆ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจาก ฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ไม่ใช่จากฝั่งอุปทาน โดยเงินเฟ้อปี 2565 น่าจะขยับแตะสูงสุดที่ 6.2% ซึ่งจะพีกสุดในไตรมาส 3 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาในระยะต่อไป

          ทั้งนี้ โจทย์ด้านนโยบายการเงินที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นคือต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีการพิจารณาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินฟ้อ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นหลัก จึงห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเหมือนในอดีตน้อยลง แต่ต้องมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแนวทาง เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

          “การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูภาวะเศรษฐกิจของเรา เพราะต่างจากประเทศอื่น เพราะเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยควรเป็นแบบของตัวเราเอง ไม่ต้องปรับตามชาติอื่น แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้สุทธิแล้วยังไหลเข้า ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

          สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าจนเกินไป หรือเร็วเกินไป เพราะที่ผ่านมา ไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค ดังนั้น กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ต้องติดตาม แม้การขึ้นดอกเบี้ย จะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย แต่หลายมาตรการอย่าง การปรับโครงสร้างหนี้ และคลินิกแก้หนี้ เหล่านี้ ถือเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม แต่หากไม่เพียงพอก็มีมาตการเพิ่มได้ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องพิจารณาในทุกๆ ปัจจัย ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาท เช่น กรณีที่เงินบาทอ่อนค่ามากๆ จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อด้วยหรือไม่ เพราะมีหลายๆ ปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน รวมถึงราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย และค่าเงิน

          นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่าโจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้การทำนโยบายแบบสมดุล ตอนนี้ที่ให้น้ำหนักที่สุดคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะกลับมาในภาพเดิมเป็นไปได้ยาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นแล้วเพราะมีการเปิดประเทศก็จะช่วยให้กลับสู่ภาวะปกติ ส่วนส่งออกก็มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ก็เป็นลักษณะการฟื้นตัวทางตัวเลข

          “ธปท.ไม่ได้ใส่ใจเงินเฟ้อเพียงเพราะเป็นตัวเลขหรือเคพีไอที่ต้องทำให้เข้าเป้าหมาย แต่เหตุผลที่เงินเฟ้อมี 2 ประเด็น คือเศรษฐกิจไทยใช้กลไกตลาดเป็นหลัก การพึ่งกลไกตลาดต้องดูเรื่องราคา ถ้าเงินเฟ้อสูง การวางแผนธุรกิจลำบาก การลงทุนชะงักกระทบเรื่องปากท้อง เพราะท้ายที่สุดที่ให้ความสำคัญในการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ความเป็นอยู่ของคนโดยรวม โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น กระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด ดังนั้น ผลกระทบเฟ้อจึงตกหนักกับครัวเรือนรายได้น้อยมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ที่มา: