ธปท.อัพสิทธิสเตเบิลคอยน์ - อาคม ไม่เลื่อนภาษีคริปโท
แบงก์ชาติเตรียมออกเกณฑ์ อนุญาตใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท “สเตเบิลคอยน์” ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ ยกธนาคารกลางส่วนใหญ่เปิดทางอิงเงินตราในประเทศนั้น 100% ด้าน “อาคม” ดับฝันเอกชน ยืนยันไม่เลื่อนเก็บภาษีคริปโทฯ ตามข้อเสนอ
นายคุณณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลในบางประเภทที่จะนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม สเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) หากสามารถดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสมได้ จะพิจารณาในการอนุญาตเพิ่มเติม
ปัจจุบัน ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระราคาค่าสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณชน รวมถึงการปล่อยสภาพคล่องในช่วงวิกฤติ
“หลักเกณฑ์จะออกได้เร็วๆนี้ และมีระยะเวลาให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัวเราคงไม่ได้ปิดทุกประตู แต่เป็นหลักเกณฑ์ในระดับกลางๆหรือเทียบเท่า แนวทางของต่างประเทศในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์วัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลของธนาคารกลางยังต้องดูแล ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศเป็นหลัก”
นายคุณณพงศ์ธวัช กล่าวว่า สำหรับ“สินทรัพย์ดิจิทัล” ในวงของธนาคารกลางทั่วโลกได้หารือกันต่อเนื่อง มองว่าเป็นเรื่องใหม่ของโลก และมีการพัฒนาตลอดเวลา ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ เห็นว่าราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ยังมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงได้โดยไม่มีที่มาของมูลค่าอย่างชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธนาคารกลางของเกือบ ทุกประเทศในโลก มีความเป็นห่วง คิดว่ามีโอกาสมาลดทอนเสถียรภาพของระบบการเงิน
อย่างไรก็ตามแนวทางของต่างประเทศในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ พบว่าในหลายประเทศไม่ได้ปิดทุกประตูในสิงคโปร์ เปิดให้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้แต่จะมีการจำกัดปริมาณ หรือไม่ให้ โอนแบบเรียลไทม์ ปิดช่องเรื่องของการลงทุนไม่ให้คนเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากจนเกินไป ป้องกันความเสี่ยงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้อย่างอื่น
นอกจากนี้ในหลายประเทศยังพูดถึงว่า สินทรัพย์ดิจิทัลบางตัวสามารถเปิดให้ใช้ได้อย่าง สเตเบิลคอยน์ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มูลค่าอาจผันผวนน้อยกว่า เพราะว่า มีการนำสินทรัพย์มาอ้างอิงมูลค่าของเหรียญอย่างชัดเจน และสเตเบิล คอยน์ มีหลายประเภท ที่อ้างอิงด้วยเงินตราของประเทศนั้น 100% หรือ อ้างอิงด้วยสินทรัพย์อื่นหรือกลไกคอมพิวเตอร์ต่างๆ
แต่ประเทศส่วนใหญ่จะ ยอมรับและน่าจะเริ่มใช้ได้ในกลุ่มสเตเบิลคอยน์ที่อ้างอิงเงินตราของประเทศนั้น 100% ก่อน เพราะความเสี่ยงในแง่ของมูลค่าของเงินนั้นไม่ได้แตกต่างเมื่อกับสื่อการชำระเงินในปัจจุบันเช่นอีมันนี่หรือระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสินทรัพย์มาอ้างอิงเหมือนกัน
“ถ้าหากเรามีหน่วยของเงินจำนวนมากในประเทศ ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความ ยุ่งยากเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลง”
เปิดเกณฑ์ตปท.ใช้สินทรัพย์เป็นMOP
ทั้งนี้ ธปท. ได้จัดทำแนวทางของต่างประเทศในการกำกับ ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภท ดังนี้
1.กลุ่มที่ เปิดให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุด “เอลซาวาดอร์” ยอมรับบิทคอยน์ เป็น Legal Tender ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย (ก.ย. 2564)
2.กลุ่มที่เปิดใหม่ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท “สหรัฐและสหภาพยุโรป ” โดยสหรัฐ Payment stable coin ให้ทำได้โดย Insured Depository Institution เท่านั้นและมี Key Entities อื่นที่ช่วยทำให้เกิดการใช้ stable coin เป็น MOP ต้องอยู่ภายใต้ Federal oversight
ส่วนสหภาพยุโรป อยู่ระหว่างเสนอ Market in crypto-assets regulation เป็นกฎหมายเพื่อ กำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสเตเบิลคอยน์ รวมถึงการประกอบธุรกิจ ของ crypto-assets Service Providersรวมถึงอังกฤษ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ Regulatoryapproach to crypto assets and stable coins
กลุ่มในเอเชียกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นสิงคโปร์กำกับเหรียญที่เข้าข่าย e-moneyตาม Payment Services Act และออก guidelineจำกัด การโฆษณาโดยห้ามโฆษณา เทรดคริปโทในพื้นที่สาธารณะห้ามจ้างอินฟลูเอนเซอร์ และจุดที่ โฆษณาได้จะต้องแจ้งความเสี่ยง (ม.ค.2565) ,ฮ่องกงอยู่ระหว่างพิจารณานโยบาย และติดตามท่าทีของต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ
3.กลุ่มที่เปิดให้ใช้สิทธิทรัพย์ดิจิทัล เพื่อลงทุนได้ แต่ห้ามชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น มาเลเซียมองว่าคริปโทฯไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือการชำระเงินทั่วไปอินเดียอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมายเพื่อห้ามการใช้คริปโทฯเป็น MOPและอินโดนีเซียห้ามใช้คริปโทฯใช้ในการชำระค่าสินค้า บริการและสภาศาสนาอิสลาม ห้ามใช้คริปโทฯเป็นสกุลเงิน
4.กลุ่มปิดไม่ให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ในทุกมิติ เช่น จีน เห็นว่าคริปโทฯและการทำเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่คริปโทฯเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
จับตาไบแนนซ์ต่อยอดบริการในไทย
กรณีที่บริษัทกัลฟ์อินโนวา บริษัทลูกของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ที่จับมือกับไบแนนซ์กระดานเทรดคริปโทฯอันดับ 1 ของโลกเข้ามาทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยนายคุณณพงศ์ธวัช กล่าวว่าหากเป็นการเทรดกัน ในตลาด เป็นหน้าที่ของตลาด หลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.ที่เป็น ผู้ดูแล ซึ่งธปท.ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ แต่ต้องติดตามกรณีไบแนซ์เข้ามาแล้วจะมีการให้บริการ ต่อยอดอะไรหรือไม่ หากเกี่ยวกับการชำระค่าสินค้าและบริการธปท.คงไม่สนับสนุน
ยันแบงก์ลงทุนคริปโทฯ ตรงไม่ได้
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ ปรับโครงสร้างและนำบริษัทลูกเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณา ขณะที่ธปท.ยังคงยึดตามที่ได้ส่งหนังสือเวียนออกไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ เข้าร่วมทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ สถาบันการเงินสามารถทำได้ แต่ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินเข้าไปลงทุน หรือไปถือในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการเก็งกำไร
“ก่อนหน้านี้มีคำถามว่าหากเอกชนที่ออกเหรียญมาแล้ว แต่ธปท.ไม่กำกับจะทำอย่างไร โดยต้องมาดูว่าเหรียญมีวัตถุประสงค์แบบไหน หากการใช้ชำระเงิน มีเกณฑ์ออกมากำกับก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์นั้น เช่นหลายประเทศ มีเกณฑ์กำกับออกมา ในส่วน ของไทย จะเป็นแนวทางกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ”
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า การนำ คริปโทฯไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลาย ธปท.ยังกังวลเพราะจะทำให้ความสามารถดูแลสภาพคล่อง ราคาในระบบเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น และการปล่อยสภาพคล่องช่วงวิกฤติ ทำให้ธปท.ต้องมาดูแนวทางการกำกับว่าเป็นอย่างไรเกณฑ์ที่ออกมา ยอมให้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งให้ชำระเงินได้ ภาคธุรกิจเอกชนสามารถปรับให้เข้ากับเกณฑ์ได้
คลังไม่เลื่อนเก็บภาษีคริปโท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอเรนซี ว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งจัดทำแนวทางการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโทฯ ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะต้องเสร็จทันภายในเดือนม.ค.2565 เพราะกำหนดการยื่นภาษีเงินได้ฯ ต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 พร้อมย้ำว่า ไม่เลื่อนการจัดเก็บ ออกไป 2 ปีตามเอกชนเสนอเนื่องจากภาษีจากการลงทุนคริปโทฯได้มีการเก็บมาตั้งแต่ปี2561 แล้ว
“การจัดเก็บภาษีรายได้จากการลงทุนคริปโทฯกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 61 และปีภาษีที่ผ่านๆมา ก็มีผู้ยื่นภาษีแล้ว โดยจะเป็นลักษณะการยื่นแบบประเมิน รายได้ตนเอง เพียงแต่ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในคริปโทฯ มากขึ้น ทำให้หลายคนอาจยัง ไม่เข้าใจเรื่องการยื่นภาษี ก็ได้กำชับให้กรมสรรพากรเร่ง ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น” นายอาคม กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ