ธปท. ยืนยันเงินไม่ฝืด แม้เงินเฟ้อติดลบต่ำสุดรอบ10ปี

05 มิ.ย. 2563 1,189 0

           แบงก์ยืนยันเงินไม่ฝืด แม้อัตราเงิน เฟ้อติดลบหนักสุดในรอบกว่า 10 ปี เชื่อปีหน้ากลับมาเป็นบวกได้ ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อ 5 ปี ยังคงเป็นไปตามที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. อิงนิยามภาวะเงิน ฝืดของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้ 1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period) 2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ 3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปรกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย และ 4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

          หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อ ไทยติดลบมาเพียงสามเดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบจาก ราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบาย การเงิน

          อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

          ด้านนางสาวปริยดา อาสยวชิร ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยหมุนเร็วกลับชะลอตัว รายได้ของประชาชนและธุรกิจ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอาจใช้เวลา 2-5 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ

ที่มา: