ธปท.เลื่อน รื้อค่าฟี หนุนแบงก์อุ้มลูกค้า
“ธปท.“ทบทวนแผน ออกหลักเกณฑ์คิด “ดอกเบี้ย -ค่าธรรมเนียม"ทั้งระบบ เพื่อให้แบงก์ใช้เป็นแนวปฏิบัติ จากเดิมคาด ออกกลางปีนี้ ชี้อาจไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม จาก “โควิด-19” ระบาด เชื่อทุกแบงก์ให้ความสำคัญกับการช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการทบทวนเรื่องการออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ย และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกประเภทของสถาบันการเงินอีกครั้ง ว่าเป็นเวลาหรือไทม์มิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ จากเดิมคาดว่าจะดำเนินการใน ช่วงกลางปีนี้ เพราะขณะนี้เชื่อว่าทุกแบงก์ ให้ความสำคัญกับการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19
นอกจากนี้ ในการออกเกณฑ์ปฏิบัติต่างๆทุกครั้ง จำเป็นต้องหารือ หรือเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง)จากสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินก่อน ภาวะนี้อาจไม่เหมาะ หรือยากลำบากมากขึ้น จากจำนวน คนทำงานที่ลดลง การประชุมร่วมกัน ยากลำบากมากขึ้น ธปท.จึงขอพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่ายังมีเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่
“เรายังมีการหารือแบงก์ และสมาคมแบงก์อยู่ ถึงหลักการกำหนดค่าฟีต่างๆ เพราะเป็นนโยบายที่ธปท.ต้องศึกษาต่อ ทำต่อ แต่ไทม์มิ่งต้อง ดูนิดนึง เพราะแบงก์ยุ่งกับการดูแลลูกหนี้อยู่ ดังนั้นช่วงนี้อาจไม่เหมาะสม ดังนั้นเราขอดูเวลาสักนิดนึง ต้องดูจังหวะเวลา แต่ระหว่างนี้เราก็ยังทำงาน ทำเกณฑ์เรื่องนี้กันอยู่ ส่วนจะอยู่ในแผนเดิมที่คาดไว้หรือไม่ อันนี้ยังไม่กล้ารับปาก” สำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การเสนอโปรดักท์ทางการเงินต่างๆผ่านสถาบันการเงิน โดยคำนึงถึงการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักท์) เชื่อว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินตระหนัก และให้ความสำคัญในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงหลักเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์มากขึ้น ในทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากเทียบกับก่อนหน้านี้ มีความระมัดระวังในการนำเสนอหรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น ทำให้การร้องเรียนเกี่ยวกับมาร์เก็ตคอนดักท์มีน้อยลงมาก
โดยเรื่องการคิดค่าธรรมเนียม ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.วางไว้ โดยยึดหลักสำคัญ 4 ข้อ คือ ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการจนเกินสมควร และคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ให้บริการ ต้องไม่เรียบเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมชัดเจน
“ตอนนี้แนวโน้มการร้องเรียน เกี่ยวกับมาร์เก็ตคอนดักท์มีแนวโน้ม ดีขึ้นมาก เพราะแบงก์เข้าใจถึงหัวใจ ของเกณฑ์นี้มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น โดยยึดหลัก 4 ด้านที่เราวางไว้ คือไม่หลอก ไม่เอาเปรียบ ให้ข้อมูลครบถ้วน ไม่เซ้าซี้ ทำให้การร้อนเรียนไม่ค่อยมี เพราะแบงก์ มีการสื่อสารมากขึ้น พนักงานเข้าใจมากขึ้น เพราะไม่มีใครอยากถูกเทียบปรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่เราอยากเห็น ผู้ใช้บริการทางการเงินก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น”
เรายังมีการหารือแบงก์และสมาคมแบงก์อยู่ ถึงหลักการกำหนด ค่าฟีต่างๆ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ