ธปท.อุ้มแบงก์ ช่วยลูกหนี้ ผ่อนเกณฑ์สภาพคล่อง2ปี
“ธปท.” ออกประกาศผ่อนผันเกณฑ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ “LCR” ของแบงก์พาณิชย์และ แบงก์รัฐต่ำกว่า 100% ยาวถึงปี 64 หวั่น การช่วยลูกหนี้ลดภาระ อาจกระทบ กระแสเงินสด หรือการบริหารสภาพคล่อง พร้อมกำชับห้ามคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าบริการเพิ่มทุกกรณี สำหรับซอฟท์โลนตามพ.ร.ก.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจทุกแห่ง ถึงแนวปฏิบัติสำหรับธนาคารในการช่วยเหลือลูกหนี้ ตามมาตรการของธปท. โดยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (LCR) และอัตราส่วน Net Stable Funding Ratio (NSFR) ต่ำกว่า 100% ได้ชั่วคราว ขณะที่ แบงก์รัฐ สามารถดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมภายใน (trigger) ได้จนถึงสิ้นปี 2564 แต่ให้แจ้งมายังธปท. พร้อมทั้งจัดทำประมาณการแผนการบริหารสภาพคล่องให้ธปท. ภายใน 15 วัน
ในส่วนสินเชื่อที่เป็นไปตามพ.ร.ก. ให้นำมูลค่าที่จะได้รับชดเชยจากรัฐบาล มาปรับลดความเสี่ยงด้านเครดิตได้ โดยส่วนที่เกินจากอัตราการชดเชยจากรัฐบาล ให้น้ำหนักความเสี่ยงตามประเภทลูกหนี้ เช่นธุรกิจเอกชน 100% และลูกหนี้ รายย่อย 75% พร้อมกับให้งดเรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ อื่นอีก นอกจากที่ระบุไว้ ในพ.ร.ก อย่างไรก็ตามธนาคารอาจพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้อง กับความสามารถในการชำระหนี้ของ ลูกหนี้หลังจากฟื้นตัวจากวิกฤติแล้ว เป็นต้น
ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า LCR ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 186% หากเทียบสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งหมดของระบบ ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ราว 3.7 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการดำรง LCR เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนสภาพคล่องของทั้งระบบที่มีอยู่สูงต่อเนื่อง ภายใต้ สินเชื่อที่ชะลอตัว
หากดู LCR เฉพาะ 5 แบงก์ใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย พบว่า LCR ปรับเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง โดยมี LCR เฉลี่ยอยู่ที่ 186% ส่วนแบงก์ที่มี LCRมากที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่ปัจจุบัน มี LCR สูงถึง 314% รองลงมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ 203% กสิกรไทยอยู่ที่ 189%
ส่วนกรณีที่ธปท. เอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถมี LCR ต่ำกว่า 100% ได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถช่วยลูกหนี้ได้มากขึ้นในภาวะปัจจุบัน แต่เชื่อว่าภายใต้ LCR ที่อยู่ใน ระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ปัจจุบัน มีโอกาสยากที่จะเห็น LCR ต่ำกว่า 100% เพราะวันนี้สภาพคล่องไม่ใช่ปัญหาของแบงก์ ภายใต้ภาวะที่คนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ตลาดเงินมีความผันผวน ทำให้บางส่วนหันมาฝากเงินในสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด ทำให้สภาพคล่องแบงก์เพิ่มขึ้นมาก
“LCR ถือเป็นส่วนหนึ่งที่วัดเสถียรภาพระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์ ว่ามีความ แข็งแกร่งมาก เพียงพอสามารถรับมือ ช่วงวิกฤติได้ ดังนั้นคิดว่าแบงก์คงรักษาตรงนี้ต่อไป แต่การที่ธปท.ให้แบงก์มี LCR ต่ำกว่า 100% ได้ก็เป็นเรื่องดี กรณี ที่แบงก์ไหนขาดสภาพคล่องชั่วคราว ก็สามารถลดส่วนนี้ได้ เพื่อให้แบงก์สามารถช่วยเหลือและดูแลลูกหนี้ในภาวะวิกฤติเพิ่มเติมได้”
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ