ธปท.ผ่อน17เกณฑ์ปฏิบัติรับโควิด
“ธปท.” ออกประกาศผ่อนผัน “เกณฑ์ปฏิบัติ” 17 รายการ หลังโควิด-19 ระบาด กระทบ “แบงก์- นอนแบงก์” ปฏิบัติตามกำหนดไม่ได้ ทั้งการนำส่งข้อมูลต่อแบงก์ชาติ และ การส่งใบแจ้งหนี้ช้า ย้ำหากส่งใบแจ้งหนี้ช้า จนลูกหนี้ผิดนัดชำระ ห้ามคิดดอกเบี้ยและค่าปรับ
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ออกประกาศและ ส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ เพื่อผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธปท.ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19
ธปท.ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของสถาบันการเงินและ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานหรือให้บริการได้ตามปกติ และไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ธปท.ในบางเรื่องได้ ธปท.จึงได้พิจารณาผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ต่างๆ เพิ่มเติม จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นๆ
โดยการผ่อนผันเกณฑ์ต่างๆ มี 17 เรื่อง เช่น ผ่อนผันให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการ สามารถส่งใบแจ้งหนี้ล่วงหน้าน้อยกว่า 10 วัน ก่อนถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชี แต่กรณีแจ้งหนี้ช้าและส่งผลให้ลูกหนี้ ชำระหนี้หลังจากวันที่ครบกำหนด ห้าม เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าปรับ
หากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการนอนแบงก์ไม่สามารถแจ้งธปท. ตามระยะ เวลากำหนด กรณีหยุดการให้บริการบาง ช่องทาง การย้ายสถานที่ทำงานเปลี่ยนแปลง ขอบเขตต่างๆ ในการให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ เป็นการชั่วคราว หรือ การรายงาน แผนกลยุทธ์ของช่องทางต่อธปท. ผ่อนผัน ให้ผู้ให้บริการแจ้งธปท.เร็วที่สุด เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ยังผ่อนผันให้คณะกรรมการสถาบันการเงินชุดเดิม รักษาการจนกว่า จะสามารถขอมติแต่งตั้งกรรมการผ่าน ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ อีกทั้งหากแบงก์ผู้ให้บริการไม่สามารถเสนองบการเงินต่อธปท. ได้ภายใน 4 เดือน นับจากสิ้นปีปิดบัญชี ผ่อนผันให้เสนองบทันทีเมื่อสถานการณ์ ปกติ
ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ผู้ให้บริการไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันภายใน 7 วัน ผ่อนผันให้ชี้แจ้งกับผู้ร้องเรียน ให้ทราบช้ากว่า 7 วันได้ และต้องดำเนินการ แก้ไขเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จและ แจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว
และหากสถาบันการเงิน ไม่สามารถประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และหลักประกันได้ตามระยะเวลาที่ธปท.กำหนด ผ่อนผัน โดยไม่ต้องกันเงินสำรองเพิ่มเติม และ ให้สถาบันการเงินประเมินราคาทรัพย์สิน ดังกล่าวให้แล้วเสร็จเมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ ภาวะปกติ
สำหรับแบงก์ที่ไม่สามารถทดสอบแผนฉุกเฉินการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) และแผนฉุกเฉินด้าน IT (IT Disaster Recovery Plan) รายปีได้ ผ่อนผันสถาบันการเงินปฏิบัติตามเกณฑ์เร็วที่สุดเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
ในส่วนการบันทึกเสียงสนทนา การเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านโทรศัพท์มือถือ อาจไม่สามารถบันทึกเสียงได้ โดยสถาบัน การเงินและผู้ประกอบธุรกิจต้องมีกระบวนการให้มั่นใจว่าการเสนอขายไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า และมีกระบวนการ จัดการกรณีมีเรื่องร้องเรียนจากการเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ