ธปท.ชี้ไวรัสยังลากยาวอีก 2 ปี

21 ก.ค. 2563 650 0

          ธปท.เตือนภาคธุรกิจเตรียมรับมือผลกระทบโควิด-19 ยาวต่อเนื่อง 2 ปี แนะใช้ “โควิดภิวัตน์” วางนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  ปิดจุดอ่อน ยกระดับภาคการเกษตร รองรับแรงงานตกงานจำนวนมากจากในเมือง ด้านทีดีอาร์ไอชี้ โลกยุคโควิด 2 ปี ธุรกิจรายย่อยใช้คาถา 6 ข้อ เพื่อความอยู่รอด

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิดภิวัตน์” ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติหนักที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา และมีผลกระทบร้ายแรง ซึ่งการแก้ปัญหาแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ การปิดเศรษฐกิจเพื่อหยุดการระบาด การออกมาตรการเยียวยาผลกระทบของทุกภาคส่วน และการฟื้นฟูธุรกิจ ทักษะการทำงานของคนเทคโนโลยี เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่โลกใหม่หลังโควิด-19

          “ถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ของ ธปท.ไตรมาส 2 ซึ่งปิดเมือง จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากสุด จากนั้นจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวจะค่อยเป็นค่อยไปถ้าไม่มีการระบาดรุนแรงอีกและจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 64 หรือใช้เวลาอยู่กับโควิด-19 ประมาณ 2 ปี”

          ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กราฟการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปเครื่องหมายถูก ที่มีหางลากขึ้นยาวๆ โดยภาคที่กระทบมากสุดคือ บริการและอุตสาหกรรม นำโดยการส่งออกและท่องเที่ยว และสิ่งที่ห่วงมากสุด คือผลกระทบของภาคท่องเที่ยวและส่งออก ที่ต่อเนื่องถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ทำให้คนตกงานสูง แต่ที่ห่วงมากกว่าคือ แม้โควิด-19 จะจบแล้วจำนวนคนที่จะกลับเข้ามาในตลาดแรงงานจะน้อยกว่าเดิม เพราะ 1.กำลังการผลิตส่วนเกินมีมาก จึงไม่ต้องการแรงงานเพิ่ม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาถึง 40 ล้านคน ต้องใช้เวลา 4-5 ปี 2.ภาคอุตสาหกรรม ใช้จักรกลและหุ่นยนต์มากขึ้น 3.มีเด็กจบใหม่ในช่วงโควิด-19 ที่ไม่มีงานทำ หากไม่ได้ทำงานใน 2 ปี จะหางานยากขึ้นมาก ดังนั้นรัฐ ต้องหาช่องทาง ที่ช่วยปรับเปลี่ยน ปฏิรูปโครงสร้างแรงงานให้กลับสู่ตลาดแรงงานได้

          ทั้งนี้ ไทยโชคดีที่ยังมีภาคการเกษตรที่ช่วยดูดซับแรงงานเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง แต่จะดูดซับแบบถาวรได้อย่างไร โดยไม่ต้องกลับมาหางานอีกเพราะแรงงานเหล่านี้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี บางส่วนเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจุดนี้ท้องถิ่น ทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมจังหวัด สถานศึกษา และผู้ประกอบการจะต้องร่วมกันทำให้แรงงานเหล่านี้ช่วยปิดความอ่อนแอในภาคการเกษตร “การปรับโครงสร้างทุกระดับ แรงงานธุรกิจรายย่อย จนถึงเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน รวมทั้งภาคการเงินที่ต้องช่วยแก้ไขหนี้สิน และเงินทุนไม่ใช่ถามไปถามมาเป็นวงว่านี่คือหน้าที่ของใคร เป็นหน้าที่ของทุกคนเราถึงใช้คำว่าโควิดภิวัตน์”

          ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เราอาจต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ในช่วง 2 ปีจากนี้ เราจะอยู่กับภาวะ VUCA แปลว่า “เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ” จะมีสิ่งใหม่ๆที่ไม่รู้มากมายและจะสร้างความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ หรือดำเนินชีวิต “ถ้าถามว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไป ผมมองว่า ในช่วงที่มีวิกฤติโรคซาร์ส เกิดอาลีบาบาขึ้นในจีน ส่วน 10 ปีก่อน ช่วงที่การสื่อสารในญี่ปุ่นถูกตัดขาดจากสึนามิรุนแรง เกิดแอปพลิเคชันไลน์ แสดงว่าในวิกฤติมีโอกาส ธุรกิจในช่วงนี้ควรทำตัวอย่างไร มี 6 ข้อ คือ เก็บเงินสด ลดต้นทุน อุดหนุนเครือข่าย กระจายความเสี่ยง เพียงอย่าท้อใจ โอกาสใหม่รออยู่ เพราะมีหลายธุรกิจยังโตได้ เทคโนโลยี ดิจิทัล และโลกออนไลน์ยังมีโอกาสให้กับธุรกิจไทย”

ที่มา: