ธปท.ชี้พิษโควิดรอบใหม่ แบงก์เข้ม ปล่อยกู้ ธุรกิจ

02 ก.พ. 2564 518 0

          ธปท.ชี้ผลสำรวจแนวโน้มปล่อยกู้ไตรมาสแรก คาดแบงก์เข้มปล่อยกู้ธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ และภาคธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารจากผลกระทบโควิด-19รอบใหม่ ขณะที่ด้านครัวเรือนคาดมีความต้องการสินเชื่อเพิ่ม โดยเฉพาะ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อบริหารสภาพคล่อง

          ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำแบบสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) จากการสำรวจ ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลงานด้าน สินเชื่อสถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่มิใช่สถาบันการเงิน(Non-banks) โดยครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 27 แห่ง และนอนแบงก์25 แห่ง ครอบคลุม 98.6% ของสินเชื่อทั้งระบบ

          โดยประเมินแนวโน้มการปล่อย สินเชื่อไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กลุ่มลูกค้าใหม่ เช่นกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน

          ทั้งนี้ พบว่าสถาบันการเงินแสดงความกังวลต่อแนวโน้มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรม ขนส่ง และร้านอาหาร จากผลกระทบของโควิด-19 รอบใหม่ ที่อาจทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ไม่เข้มแข็ง ขณะที่แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของ ภาคธุรกิจไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่า ธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ยังคงต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา

          สำหรับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบว่าธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงทั้งภาคธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวด ของเงื่อนไขประกอบสัญญากู้ (loancovenants) และเพิ่ม margin สำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง

          ในด้านสินเชื่อภาคครัวเรือน คาดว่า มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะผ่อนคลายลง เล็กน้อย แต่สถาบันการเงินยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความน่าเชื่อถือ ของผู้กู้รวมถึงความเสี่ยงของ หลักทรัพย์ค้ำประกัน

          ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนคาดว่า ความต้องการสินเชื่อ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการสินเชื่อ บัตรเครดิตและอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เพื่อใช้จ่ายและบริหารสภาพคล่อง

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทน กอปรกับความเชื่อมั่น ผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับลดลง หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์มี แนวโน้มปรับลดลง

 

ที่มา: