ธปท.กางแผนโกดังเก็บหนี้
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.หารือกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง หนึ่งในแนวทางเบื้องต้นคือจัดตั้งโกดังเก็บหนี้ หรือแอสเซท แวร์เฮ้าส์ซิ่ง เพื่อนำหนี้เก็บไว้ในโกดังนี้ และจะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เข้าช่วยลูกหนี้ธุรกิจโรงแรมทั้งหมด 4 แสนล้านบาท รวมทั้งขยายเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างดูในรายละเอียดในการปรับปรุง ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะเปิดเผยอีกครั้งหากได้ข้อสรุปแล้ว
“จากที่ได้คุยกับธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าช่วยลูกหนี้โรงแรม และลูกหนี้ท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีหนี้ทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ให้ความช่วยเหลือ แต่มีบางผู้ประกอบการยังรับนักท่องเที่ยวคนไทย เริ่มกลับมาจ่ายหนี้ได้บางส่วน แต่หลายส่วนหลายผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป”
สำหรับความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีเรื่องสภาพคล่อง ธปท.ได้ปล่อยซอฟต์โลนแล้ว 1.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 74,702 ราย เป็น 66% ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ท่องเที่ยว การบิน รถขนส่งโดยสาร ร้านอาหาร ได้รับสินเชื่อ 83,410 ล้านบาท คิดเป็น 49,922 ราย และอีกสัดส่วน 34% เป็นธุรกิจอื่น ๆ ได้รับผลกระทบทางอ้อมมีผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อวงเงิน 42,367 ล้านบาท คิดเป็น 24,780 ราย
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท. กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ได้ร่วมหารือกันให้แนวทางสามารถใช้ในทางปฏิบัติได้จริง โดยที่ผ่านมาหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธุรกิจขนาดใหญ่มีช่องทางหา สภาพคล่องได้ ทำให้ผลกระทบกลุ่มนี้มีไม่มาก และถ้าเป็นกลุ่มพื้นที่เสี่ยงต้องการสภาพคล่องใหม่ ยังต้องมีกลไกค้ำประกันเข้ามาดูแลความเสี่ยงเพิ่มเติม
ทั้งนี้แอสเซท แวร์เฮ้าส์ซิ่ง ลูกหนี้สามารถเอาทรัพย์ไปฝากไว้ชั่วคราวไว้กับเจ้าหนี้ ถ้าเวลาต่อมาอยากดำเนินกิจการ สามารถเช่าสินทรัพย์ตนเองได้ก่อน แต่ต้องตกลงระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้กันว่า ให้ลูกหนี้มาซื้อคืนได้ในระยะเวลาที่กำหนด และมาซื้อคืนต้องไม่เป็นภาระเกินไป โดยสินทรัพย์จะได้รับการดูแลไม่ให้เสื่อมคุณภาพ ถ้าลูกหนี้ซื้อคืนไปได้สามารถใช้และดำเนินธุรกิจต่อได้ทันที รวมทั้งไม่เกิดการขายสินทรัพย์ ไม่เป็นเอ็นพีแอล และราคาสินทรัพย์ไม่ลดลง
นอกจากนี้กลไกช่วยเหลือจะต้องให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และกลไกต้องยืดหยุ่น โดยเฉพาะแนวทางแอสเซท แวร์เฮ้าส์ซิ่ง ช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สูง และต้องการใช้เวลาฟื้นตัวนาน ซึ่งรายได้ต่ำมีภาระหนี้ ไม่สามารถหามาชำระหนี้ได้ บางคนมีศักยภาพแต่ถูกโควิดทำให้ต้องเสียสินทรัพย์ถาวร จึงเกิดแอสเซท แวร์เฮ้าส์ซิ่งให้ลูกหนี้นำหนี้ไปเก็บไว้ เพื่อหยุดจ่าย หยุดทุกอย่าง เพราะหากแค่พักหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ดอกเบี้ยยังคิด หนี้สูง และหากรายได้ไม่กลับมา จ่ายหนี้ไม่ได้ หนี้ที่มีอาจใหญ่เกินมูลค่าหลักประกัน
“กลุ่มที่ต้องการสภาพคล่องใหม่เป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ และเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบชั่วคราว และอีกกลุ่มที่มีภาระหนี้ที่มีหลักประกัน ต้องการกลไกเข้ามาดูแล ทำให้อาจ มองได้ว่าเข้าไปช่วยเหลือให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพราะโควิดเกิดระบาดรอบใหม่ทำให้ครั้งนี้ถูกกระทบและต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม”
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์