ที่ดินเมืองกรุงหลังโควิดฝืด

26 ม.ค. 2565 567 0

         นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 64 มีค่าดัชนีเท่ากับ 339.0 จุด เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ได้ชะลอตัวลงก็ตาม แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเป็นไตรมาสที่ 6 แล้ว นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 63

         “เพราะหากดูค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปี ตั้งแต่ปี 58 -62 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้น มีค่าเฉลี่ย 14.8% เมื่อเทียบปีต่อปี แสดงว่าแม้ราคาที่ดินเปล่าฯ จะยังมีการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากโควิด และความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้า”

         สำหรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด

        อันดับ 1 ได้แก่ บีทีเอส สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 15.0% จากปีก่อน โดยราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตจตุจักร บางนา พญาไท และพระโขนง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก และหากเทียบย้อนหลัง 10 ปี พบว่าราคาที่ดินย่านนี้เพิ่มขึ้น 305.8%

        อันดับ 2 ได้แก่ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 14.6% โดยเฉพาะเขตบางกะปิ มีนบุรี และสะพานสูง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มมากสุด

        อันดับ 3 สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ราคาเพิ่มขึ้น 12.7% โดยเขตบางพลี ประเวศ และเมืองสมุทรปราการ ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด

        อันดับ 4 ได้แก่ แอร์พอร์ตลิงก์ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 10.8% โดยในเขตดินแดง วังทองหลาง สวนหลวง และห้วยขวางราคาเพิ่มมากสุด

        อันดับ 5 ได้แก่ เอ็มอาร์ที และ สายสีแดงเข้ม บางซื่อ - หัวลำโพง ราคาเพิ่มขึ้น 10.7% โดยเขตบางซื่อ มีราคาเพิ่มขึ้นมากซึ่งที่ผ่านมาราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าได้ปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา: