ตามนัด!ต่ออายุอุ้มอสังหา รับบ้านคอนโดยังล้นตลาด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการจำนวน 36 ชิ้น 3 ชุดมาตรการ โดยในส่วนของมาตรการในการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2567 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ซึ่งการโอนและจำนองต้องเป็นไปในคราวเดียวกัน
สำหรับขั้นตอนต่อไป กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินจะดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองตามประมวลกฎหมายที่ดิน 1 ฉบับ และตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีก 1 ฉบับ รวม 2 ฉบับ โดยหลังจากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ จึงจะดำเนินการลดหย่อนได้จริง โดยมีระยะเวลาตามกฎหมาย 1 ปี คาดว่ากระบวนการจะไม่ช้า เพราะทางกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมาตรการดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 5 พันล้านบาทต่อปี แต่จะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งตลาดบ้านมือหนึ่งและมือสองได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงาน ภาคการขนส่งและกระตุ้นภาครวมทางเศรษฐกิจได้มากถึง 0.5% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตรการผ่อนปรนควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (Loan to Value : LTV) ยังไม่ได้มีการนำมาพิจารณา (เป็นมาตรการของแบงก์ชาติ)
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ “Easy E-Receipt” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
โดยมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
ขณะที่ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังออกมาตรการเป็นของขวัญปีใหม่อีกหลายมาตรการ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยตั้งงบรายจ่ายไม่เกิน 3,480,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่กฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว เพื่อส่งไปยังรัฐสภาพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 3-4 ม.ค. 2567 นี้
บ้าน คอนโดฯ ล้นตลาด
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ภาพรวมทั้งปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดการณ์จะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาด 94,732 หน่วย มูลค่า 493,516 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลง 13.4% มูลค่าลดลง 10.3% แบ่งเป็น อาคารชุด 39,086 หน่วย มูลค่า 123,173 ล้านบาท บ้านจัดสรร จำนวน 55,646 หน่วย มูลค่า 370,343 ล้านบาท
โดยโครงการที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 77,739 หน่วย มูลค่า 405,052 ล้านบาท ลดลง 18.3% มูลค่าขายได้ใหม่ลดลง 16.1% ซึ่งเป็นการขายได้ใหม่ของอาคารชุด 32,864 หน่วย มูลค่า 125,505 ล้านบาท และบ้านจัดสรร 44,875 หน่วย มูลค่า 279,548 ล้านบาท และคาดจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2566 จำนวน 198,282 หน่วย มูลค่า 986,160 ล้านบาท แบ่งเป็น อาคารชุด 71,239 หน่วย มูลค่า 281,867 ล้านบาท และบ้านจัดสรร จำนวน 127,043 หน่วย มูลค่า 704,293 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มาตรการดังกล่าวมองเป็นบวกเล็กน้อย โดยการขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองไปอีก 1 ปียังเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งยังคงกำหนดเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้ได้ประโยชน์ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดล่าง ซึ่งหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN และ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตลาดล่างจะยังมีความเสี่ยงเพราะกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวช้า รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และสถาบันการเงินยังเข้มงวดต่อการปล่อยกู้มากกว่า ส่วนการผ่อนเกณฑ์ LTV จะส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มอสังหาฯ แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่แบงก์ชาติจะผ่อนเกณฑ์มาตรการดังกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น