ตลาดอสังหาฯปีนี้โตไม่เกิน 5% ศก.ยังชะลอตัว-ภาระหนี้-ดอกเบี้ยสูง

08 ส.ค. 2566 232 0

          นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เปิดเผยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 แต่อัตราการเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเป็นการเติบโตกระจุกอยู่ในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว

          ในขณะที่ภาคการส่งออกติดลบต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ผนวกกับภาระหนี้ครัวเรือน ที่สูงขึ้นมาแตะระดับ 90.6% อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 2.25-2.5% ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายอัตราส่วนการอนุมัติสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ผนวกกับความไม่แน่นอนทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2566

          ทั้งนี้บริษัทคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2566 จะใกล้เคียงกับปี 2565 หรือเติบโตไม่เกิน 5% ซึ่งปรับลดจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะเติบโต 10-15% โดยคาดว่าจะมีหน่วยเปิดตัวใหม่ 105,000-108,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 474,000-488,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีการเปิดตัวใหม่ 103,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 457,000 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตามจากการสำรวจการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลช่วงครึ่งปีแรก 2566 บริษัทพบว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 179 โครงการ เพิ่มขึ้น 9.81% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 คิดเป็นจำนวนหน่วยที่เปิดตัวรวม 45,162 หน่วย ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ลดลงจาก 13% จากจำนวนหน่วยที่เปิดตัวรวม 51,946 หน่วย ในช่วงครึ่งปีแรก 2565 ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวโครงการโดยรวม ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 อยู่ที่ 203,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากมูลค่าการเปิดตัวที่ 188,373 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรก 2565 โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวโครงการอยู่ที่ 18% ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ลดลงจาก 25% ในช่วงเดียวกันของปี 2565

          “จำนวนโครงการที่เปิดตัวเพิ่มขึ้น แต่จำนวนหน่วยเปิดตัวลดลง ส่วนมูลค่าสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการเปิดตัวโครงการเพิ่มขึ้น โดยที่แต่ละโครงการมีจำนวนหน่วยลดลง และมีราคาขายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการ เปิดตัวโครงการที่เน้นบ้านราคาสูงมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อ ในขณะที่การเปิดตัวอาคารชุดพักอาศัยมีการเปิดตัวจำนวนโครงการ หน่วย และราคาลดลง“นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

          ทั้งนี้จากสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ที่ผู้ประกอบการชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาคารชุดพักอาศัย ทำให้บริษัทคาดการณ์ว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก 2566 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่ทิศทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ผู้ประกอบการจะไปเร่งเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ถ้าทิศทางการเมืองมีความแน่นอนมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ผู้ประกอบการในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะขยายการเปิดตัวโครงการไปในทำเลต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) และพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขาย หลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังซื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลชะลอตัว

 

 

ที่มา: