ชัชชาติ เคาะค่ารถไฟฟ้าสีเขียวตลอดสาย 59 บาท

28 มิ.ย. 2565 471 0

          ต่อสัมปทานสรุปเดือนหน้า “ชัชชาติ” เคาะค่ารถไฟฟ้าสีเขียวตลอดสาย 59 บาท

          “ชัชชาติ” เคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายไม่เกิน 59 บาท ลั่นถึงเวลาต้องเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต หลังให้นั่งฟรีมานาน เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถ ที่ต้องจ่ายให้บีทีเอส คาดจะเริ่มโดยเร็วที่สุด หลังบีทีเอสปรับแก้ไขระบบการคำนวณค่าโดยสาร ส่วนการต่อสัญญาสัมปทาน คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนหน้า

          นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ส่วนที่ 2 ที่เป็นภาระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้อยู่ 27% เบื้องต้นจะเป็นไปตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ให้เก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 59 บาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะต้องจ่ายค่าเดินรถเพื่อความยุติธรรม

          ทั้งนี้ ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีหนี้ส่วนต่อขยายราว 100,000 ล้านบาท และยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็นหนี้วางระบบรถ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถ อีก 13,000 ล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่ การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี และการต่อสัญญาสัมปทาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนหน้า

          นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า TDRI ได้เสนอให้ กทม. เริ่มจัดเก็บ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย ส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต และส่วนใต้ ช่วงสำโรงสมุทรปราการ หลังจากเปิดนั่งฟรีมานาน เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) โดยอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายเก็บ 15 บาท เมื่อรวมกับเส้นทางหลักสัมปทานเก็บได้สูงสุดไม่เกิน 59 บาท

          สำหรับอัตราค่าโดยสาร 59 บาท เป็นตัวเลขที่คณะผู้บริหาร กทม. เห็นว่ามีความเหมาะสม ประชาชนน่าจะรับได้ เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายไกลพอสมควร ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. จำนวน 9 สถานี ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะเริ่มเก็บ อยากให้เร็วที่สุด เดิมตั้งเป้าจะเริ่มเก็บวันที่ 1 ก.ค. 2565 แต่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) แจ้งว่าอาจจะไม่ทัน เพราะต้องหารือกับบีทีเอส เนื่องจากต้องมีการปรับแก้ไขระบบซอฟต์แวร์การคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

ที่มา: