จ่อคลอดฟื้นฟูศก.ชุดใหม่คาดจีดีพีปี63ติดลบ7.5%

18 ส.ค. 2563 678 0

 

          ” ทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 2/2 ลั่น ส.ค.นี้เตรียมคลอดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดใหม่ ถ้าคนไทยช่วยกันหยุดการระบาดโควิดรอบ 2 อาจไม่ต้องกู้ “ปรีดี” รับปรับบทบาทคลังคุมกระเป๋าตังค์ “คลัง” ลุยโต้ถังแตก ยันฐานะยังแข็งแกร่งไม่มีอะไรน่ากังวล ยังบริหารจัดการได้ดี สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/63  อ่วมพิษโควิดติดลบ 12.2% ทั้งปีคาดติดลบ 7.5% หลังส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก

          เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้มอบนโยบายในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าจะมีมาตร การฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเห็นมาตรการชัดเจนภายในเดือน ส.ค.นี้ ภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่มีอยู่ใช้ไปก่อน และหากจำเป็นต้องเพิ่มเติมจริงๆ ก็ต้องกู้เพิ่ม เช่น ถ้าเกิดการระบาด โควิด-19 รอบ 2 เป็นสภาวการณ์ที่ควบคุมไม่ได้  คนในประเทศไม่ร่วมมือกัน เงินอาจจะไม่พอก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าควบคุมการระบาดได้ดี วัคซีนมาเร็ว ความเชื่อมั่นสูงขึ้น เงินที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะความมั่นใจสูง การลงทุน การบริโภค  และการใช้จ่ายมากขึ้น ทุกคนเลิกประหยัด เลิกกลัวที่จะต้องเก็บเงินไว้

          “วันนี้การดำเนินการทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะดำเนินการภายใต้สถานการณ์หากระบาดรอบ 2 ต้องปิดเมืองอีกครั้ง ถ้าต้องเพิ่มการกู้เงินก็ต้องเพิ่ม หนี้สาธารณะวันนี้อยู่ระดับกว่า 40% ของจีดีพี รัฐบาลไม่มีนโยบายตั้งเป้าว่าหนี้จะต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ตั้งเป้าต้องรักษาควบคุมการระบาดให้ดี แล้วเราจะใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและดีที่สุด”

          นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวติดลบ 12.2% เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกที่ จะมากหรือน้อยแค่นั้นเอง และประเทศไทยมีสัดส่วนของจีดีพีเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออกสูง ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่และยังมีประเทศอื่นที่แย่กว่าไทยก็มี เราต้องเชื่อมั่น การที่จีดีพีติดลบ 12.2% คิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป ถ้าการระบาดที่เราร่วมมือกันไม่ได้ดีอย่างนี้ ควบคุมการระบาดไม่เรียบร้อย ก็อาจจะแย่กว่านี้  เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย หลายประเทศเปิดประเทศไม่ควบคุมเหมือนไทย เศรษฐกิจก็แย่กว่า

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบาย 5 เรื่อง คือ 1.การดูแลผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็ม อี) และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน 2.เตรียม มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นมาตรการยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่การเยียวยาโดยตรง 3.หาแนวทางในการจูงใจให้ ภาคธุรกิจต่างๆ จ้างงาน 4.เน้นเรื่อง การจ้างแรงงานจากนักศึกษาจบใหม่ สู่ตลาดแรงงาน และ 5.ทำงานอย่าง ซื่อสัตย์ โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูภาพรวม อุปสรรค ดูในเชิงปฏิบัติให้เหมาะสม ต้องตรงเป้าหมาย ตรงจุดให้เหมาะสมกับคนที่ควรจะได้

          นายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง กล่าวว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนไป  การตัดสินใจการทำมาตรการต่างๆ อยู่ที่ ศบศ.ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล บท บาทของคลังจากในอดีตจะถูกเปลี่ยนไปบ้าง โดยวันนี้คลังมีเรื่องตัวเงินที่ต้องเข้าไปซัพพอร์ต เรื่องวินัยการเงินการคลัง บทบาทเปลี่ยนชัดเจน จะมีข้อมูลและมาตรการในรายละเอียดออกมาจาก ศบศ.หลังจากนี้

          สำหรับความท้าทายระยะสั้น เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงหมด ถ้า จีดีพีไทยถูกกระทบมากที่สุด ก็ต้องยอมรับว่ามันมากที่สุด เพราะโครง สร้างเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว ส่งออก ปัญหาเกิดจากคนเดินทางไมได้ ไทยก็ได้รับผลกระทบในส่วนนั้นมากที่สุด ทั้งหมดเป็นเหตุและผล ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับที่เดิม จะ 1-2 ปีนั่นเป็นความคาดหวัง เป็นกำลังใจ ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ เราจะแก้ปัญหากัน 1-2 เดือนหรือแก้ปัญหาจนถึงวัคซีนมา บางเรื่องยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนเพราะมีเหตุและผลของตัวเอง

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 ประมาณ 7.45 แสนคน หรือ 2% ของกำลังแรงงาน และคาดว่ามีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอที่จะกลับไปทำ รวมทั้งเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด ทั้งงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ  พ.ร.ก.กู้เงิน ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ในช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณจำกัด การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า ทั้งนี้ตนมานั่งคลังจะไม่ตอบอะไรที่มันไม่มีความชัดเจน

          นายปรีดีกล่าวต่อว่า จากนี้จะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม พัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน กำกับดูแลแบงก์รัฐให้ดำเนินการตามพันธกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย

          “ส่วนที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนั้น ขออย่าพูดว่าถังแตก อย่าไปคิดแบบนั้น การบริหารงบประมาณ จัดการรายจ่าย รายได้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง เป็นฤดูกาล ต้องบริหารจัดการเป็นเรื่องปกติ การพูดว่าถังแตกไม่มีความหมายที่ดี และไม่ใช่เรื่องที่ดี” นายปรีดีกล่าว

          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ไทยเงินหมดประเทศและมีแนวโน้มจะเก็บภาษีพลาดเป้า 5 แสนล้านบาทว่า ปัจจุบันฐานะการคลังยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ไม่มีความน่ากังวลแต่อย่างใด แม้ว่าในปีนี้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้จะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่กระทรวงการคลังยังสามารถบริหารจัดการเงินคงคลังได้เป็นอย่างดี

          “ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ถังแตก โดยกระทรวงการคลังยังสามารถบริหารจัดการเงินคงคลังได้  ทั้งการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล หรือการบริหารจัดการกระแสเงินสด” นายลวรณกล่าว

          นายลวรณกล่าวว่า ตัวเลขประ มาณการเศรษฐกิจของ สศช.ที่ประกาศออกมาล่าสุดว่าจะขยายตัวติดลบ 7.5% นั้น เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ สศค.ได้คาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 8.5% โดยหลังจากนี้จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อมาใช้ในการพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจในรอบต่อไป

          วันเดียวกัน นายทศพร ศิริ สัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 เศษฐกิจไทยติดลบ 6.9% โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเดินทางข้ามประเทศ

          อย่างไรก็ตาม ขณะที่การส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ติดลบ 17.8% หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 21.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก และทั้งปีคาดว่าจีดีพีจะติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้, มีการจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจนถึงสิ้นปี 2563 และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับ จีนจะไม่ทวีความรุนแรงหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น

          นายทศพรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุดและจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากเป็นไปตามคาดจะมีวัคซีนออกมาใช้กับคนกลางปีหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ขณะนี้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ การสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ  การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ของกลุ่มผู้ที่ยังมีกำลัง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขยอดจองรถรุ่นใหม่ที่ เปิดตัวมาล่าสุดมียอดจองถึง 6,000 คัน รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนให้เตรียมพร้อมรับหลังเศรษฐกิจฟื้น

 

ที่มา: