จีดีพี63ลบ6.1%ต่ำสุด22ปี
สศช.เผยจีดีพีปี 63 หดตัว 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ส่วนปี 64 คาดโต 3% ต่ำกว่าเดิม 3.5-4.5% หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ด้าน ธปท. ประเมินเศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% ถือว่าดีกว่าคาด
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ว่า จีดีพีไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภค แต่ยังหดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2563 ติดลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 และมีผล กระทบในปี 2541 เพราะได้รับผลกระทบ ของโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ
“เดิมประเมินจีดีพีทั้งปีไว้ที่ติดลบ 6.4% แต่ก็ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เพราะ ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวจากการอุปโภค บริโภค ภาครัฐ และเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว”
สำหรับจีดีพีปี 2564 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3.5% มีค่ากลางที่ 3% เป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่ และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพียง 3.2 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะกลับมา 5 ล้านคน
ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 5.8% จากเดิม 4.2% การนำเข้าขยายตัว 6.5% จากเดิม 5.3% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 1-2% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-1.7%
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณ 2564 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 93.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 94.4% โดยเป็นผลจากไตรมาส 4 ของปี 2563 มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย และยังคาดว่าการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 80% ซึ่งล่าสุดเบิกจ่ายไปแล้ว 55%
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา