จบประมูล แหลมฉบัง 2 ปี กัลฟ์-ปตท.เซ็นปลาย พ.ค.

08 เม.ย. 2564 444 0

          ครม.เคาะผลเจรจา แหลมฉบังเฟส 3 สรุปค่าสัมปทาน ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 2.9 หมื่นล้านต่ำกว่าที่อนุมัติไว้ 5 พันล้านบาท  กทท.เร่งเปิดซอง 5 ข้อเสนอเพิ่มเติมไม่มีผลต่อการประมูล ก่อนชง กพอ.อนุมัติร่างสัญญา คาดลงนามปลาย พ.ค.-ต้น มิ.ย.นี้

          การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ข้อสรุปแล้วหลังจากที่ใช้เวลาประมูลมากว่า 2 ปี โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดยื่นซองครั้งแรกวันที่ 14 ม.ค.2562 แต่ยกเลิกประมูลเมื่อบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพราะไม่ยื่นหลักประกันซอง

          หลังจากนั้น กทท.ต้องแก้ไขเอกสาร การคัดเลือกเอกชน (RFP) และเปิดให้ยื่นซองใหม่วันที่ 29 มี.ค.2562 มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ

          1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) , บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

          2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด

          ระหว่างการประมูลได้มีการยื่นศาลปกครองเมื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ถูกตัดสิทธิการประมูล และเมื่อได้ข้อสรุปในชั้นศาลได้มีการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนรัฐกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 เม.ย.) อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  เสนอ เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเปิดข้อเสนอซองที่ 5 ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ และจะเสนอ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติผู้ชนะการประมูลและร่างสัญญา ก่อนที่จะประกาศผู้ชนะประมูล โดยไม่ต้องเสนอ ครม.อีก

          “การลงนามสัญญาร่วมลงทุนคาดว่า ทำได้ช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.นี้” เรือโทกมลศักดิ์ กล่าว

          สรุปค่าสัมปทาน2.9หมื่นล้าน

          นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้อเสนอค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ ครม.อนุมัติอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร อยู่ที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 32,225 ล้านบาท หรือต่ำกว่าผลตอบแทน ที่รัฐคาดหมายไว้ 3,175 ล้านบาท

          นอกจากนี้ สกพอ.รายงานว่าในการเปิดเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนครั้งที่ 1 มีมายื่นเอกสารข้อเสนอ 1 ราย แต่ขาดหลักประกันซอง โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงมีมติว่าไม่ผ่านการประเมิน ส่วน ครั้งที่ 2 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย มีผู้ผ่าน การประเมิน 1 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC

          สำหรับการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทนนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เสนอค่าสัมปทานคงที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 12,051 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าที่รัฐ คาดหมายตามมติ ครม. โดยคณะกรรมการ คัดเลือกฯ ได้เจรจาผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จำนวน 6 ครั้ง โดยข้อเสนอสุดท้ายอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรคงเดิมที่ 100 บาทต่อทีอียู

          ขณะเดียวกัน กทท.และ สกพอ.ได้เสนอความเห็นร่วมกันว่า ผลตอบแทนโครงการเฉพาะส่วนของท่าเทียบเรือ F จะมีอัตรา ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 11.01% และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV ) อยู่ที่ 30,032 ล้านบาท และหากนำมูลค่าที่ดินของ กทท.มาคำนวณเป็นมูลค่าสุดท้าย (Terminal Value) จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 11.54% และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ 39,959 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

          ไม่กระทบความเสี่ยงการเงิน

          ส่วนความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของ กทท.นั้น เนื่องจากมูลค่าเงินลงทุนก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลงฉบัง  ระยะที่ 3 ต่ำกว่าวงเงินลงทุนที่ได้ประมาณการ ไว้ รวม 5,161 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุน ท่าเทียบเรือ F เหลือ 13,786 ล้านบาท จากเดิม 15,954 ล้านบาท ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนของ กทท.ส่วนท่าเรือ F ตามหลักการการคำนวณเป็น 27,845 ล้านบาท ดังนั้น  ข้อเสนอสัมปทานคงที่ของเอกชนจึงครอบคลุมความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุน ของ กทท.ได้รับ

          ทั้งนี้การอนุมัติให้ลงทุนจะทำให้ไม่ต้องคัดเลือกเอกชนใหม่ที่ทำให้เกิดความล่าช้า โดย สกพอ.ประเมินว่าหากต้องคัดเลือกใหม่จะกระทบการเปิดท่าเทียบเรือ F อาจล่าช้า ไป 2 ปี จึงมีความเสี่ยงที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะไม่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้

          รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ของท่าเรือในปัจจุบัน และกรณีที่มีการถมทะเลแล้วเสร็จแต่ไม่มีการร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือได้ทันที จะทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงสร้างในส่วนดังกล่าว รวมทั้งภาครัฐยังมีความเสี่ยงที่จะไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอหรือเสนอผลตอบแทนต่ำกว่าเดิม เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ที่มา: