คลัง เล็งฟื้น ช้อปดีมีคืน คาด65จีดีพี 3-3.5% ปีหน้า 4%
การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 3-3.5% โดยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่เข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน จะช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8-10 ล้านคนต่อปี
คลังเล็งฟื้น “ช้อปดีมีคืน”
คลังรับข้อเสนอภาคเอกชน ฟืน “ช้อปดีมีคืน” เตรียมนำหารือ “อาคม” คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ส่วน “คนละครึ่งเฟส 6” ต้องรอเฟส 5 จบก่อน ประเมินจีดีพีปีนี้ โตตามเป้า 3-3.5% แน่ และขยับเป็น 4% ในปี 66 ได้รับแรงหนุนการท่องเที่ยว หลังเปิดประเทศ เตรียมทบทวนตัวเลขใหม่ปลายเดือนนี้ รัฐบาลมั่นใจเศรษฐกิจไทยจะคืนสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในสิ้นปี 65 หรือต้นปี 66 เผย EEC มีความต้องการแรงงาน 475,688 ตำแหน่ง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงการความคืบหน้าการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2565 ว่า ขณะนี้แต่ละกระทรวงได้เตรียมคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้แล้ว และในส่วนของกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะเรียก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และ สศค. เข้าประชุมหารือ โดยจะเสนอให้นำมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนมาพิจารณาด้วย
ส่วนการขยายมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 6 ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ยังเป็นช่วงการดำเนินมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2565 โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 ต.ค.2565 คนละครึ่งเฟส 5 มียอดใช้จ่ายรวม 3.43 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายของประชาชน 1.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่าย 51% และรัฐบาลใช้จ่าย 1.68 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่าย 49% จากจำนวนผู้ใช้จ่าย 24.02 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีคนใช้จ่ายเต็มวงเงิน 800 บาทแล้ว 8.75 ล้านคน หรือ 36% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด
สำหรับยอดการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้สมัครแล้วกว่า 21.45 ล้านราย ซึ่งกระทรวงการคลังต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์อีกครั้ง
นายพรชัยกล่าวว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 3-3.5% โดยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่เข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน จะช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8-10 ล้านคนต่อปี ส่วนปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และทำให้มีเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้น สนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวได้กว่า 4%
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนต.ค.2565 กระทรวงการคลังจะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 และปี 2566 อีกครั้ง หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.8% และ 3.7%
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกลับไป สู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 โดยมีปัจจัยบวกจากแรง ส่งของภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟืนตัวดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ จากแนวโน้มการฟืนตัวของเศรษฐกิจไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการตามนโยบาย เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ภาพรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนกำหนดมาตรการทางการเงินให้ครอบคลุมกับประชาชน ทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งกลุ่มที่เปราะบาง เช่น มาตรการสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นต้น
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างจริงจัง ทำให้มีความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 475,688 อัตรา ได้แก่ ท่องเที่ยว 16,920 ตำแหน่ง หุ่นยนต์ 37,526 ตำแหน่ง ดิจิทัล 116,222 ตำแหน่ง อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 ตำแหน่ง การแพทย์ครบวงจร 11,538 ตำแหน่ง พาณิชย์นาวี 14,630 ตำแหน่ง ยานยนต์แห่งอนาคต 53,738 ตำแหน่ง การบินและโลจิสติกส์ 166,992 ตำแหน่ง แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา 253,114 ตำแหน่ง ระดับปริญญาตรี 214,070 ตำแหน่ง และระดับปริญญาโท-เอก 8,610 ตำแหน่ง
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชน ในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งขณะนี้ทำสำเร็จแล้วรวม 16,007 คน และจะเดินหน้าพัฒนาบุคลากรให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อป้อนความต้องการของอุตสาหกรรมใน EEC ต่อไป
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา