คลัง เล็งกระตุ้นเร่งด่วน สู้ โควิดรอบ2 พยุงจีดีพี

04 ม.ค. 2564 506 0

          “คลัง” มั่นใจเศรษฐกิจ 64 บวก 4.5% เดินหน้า 3 ภารกิจ “รีสตาร์ทประเทศไทย” เล็งออกมาตรการกระตุ้นระยะเร่งด่วน “นักเศรษฐศาสตร์“5สำนัก หวั่น “โควิด“รอบใหม่ฉุดจีดีพีไทยโตต่ำเป้า “ซีไอเอ็มบีไทย"ปรับเป้าต่ำกว่า 4.1% “ทีเอ็มบี” ห่วงล็อกดาวน์รอบใหม่เสี่ยงจีดีพีโตต่ำกว่า 2% “สแตนชาร์ด“ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

          เศรษฐกิจปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระบาดรอบใหม่ที่ส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพิ่มพื้นที่สีแดงที่คุมการระบาดเข้มงวดจาก 1 จังหวัด เป็น 28 จังหวัด ทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

          นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประเมินว่า สศค.ประเมินเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 4.5% แม้จะขยายตัวเป็นบวก แต่เป็น ปีที่ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูง ในขณะที่เศรษฐกิจปี 2563  จะดีขึ้นจากที่เคยคาดว่าติดลบ 7.7%

          สำหรับปัจจัยบวกปี 2564 อยู่ที่การบริโภคเป็นเครื่องยนต์ที่รัฐบาลใช้พยุงเศรษฐกิจ โดย นับจากไตรมาส 3 ปี 2563 การบริโภคเริ่มขยายตัวดีขึ้น โดยติดลบน้อยลงที่ 0.6% และมาตรการรัฐที่กระตุ้นการบริโภคไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทำให้การบริโภคกลับมาเป็นบวก

          “มาตรการคนละครึ่งเฟส 2 จะมีเม็ดเงิน เข้ามาระบบ 4.5 หมื่นล้านบาท บวกกับ การเพิ่มเงินให้ผู้มีรายได้น้อยคนละ 500 บาท ระยะ 3 เดือน รวมเป็น 1,500 บาท 14 ล้านคน รวมอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาทจะมีเม็ดเงิน ให้การบริโภคไตรมาส 1 เป็นบวก”

          นอกจากนี้ นโยบายการคลังขาดดุลปีงบประมาณ 2564 อีก 6 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะมีเม็ดเงินจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

          ส่วนการส่งออกเริ่มมีทิศทางดีขึ้น คู่ค้าที่ดี คือ จีน   เวียดนาม เริ่มเป็นบวก และการส่งออก ไปสหรัฐเริ่มกลับมา ดังนั้นปี 2564 แม้สถานการณ์ โควิด-19 จะไม่แน่นอน แต่หลายรัฐบาลไม่ ล็อกดาวน์และยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะช่วงหลังอัตราการตายไม่สูงขึ้น หลายรัฐบาล เริ่มสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมถึงมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการค้า คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จะทำให้การค้าขายของไทยดีขึ้น

          สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจคือการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวหายไป 40 ล้านคน หรือ 100% ในปี 2563 ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเท่าไหร่ในปีนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศแม้เริ่มกลับมาแต่ยังติดลบ 35% ทำให้กำลัง การผลิตส่วนเกินภาคการท่องเที่ยวยังมี

          คลังชู3ภารกิจ“รีสตาร์ทเศรษฐกิจ”

          นางสาวกุลยา กล่าวอีกว่า การดำเนิน นโยบายการคลังยังเป็นนโยบายสำคัญที่มี บทบาทต่อการดูแลเศรษฐกิจปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ เรียกได้ว่าเริ่มรีสตาร์ทประเทศไทยหลังยุคโควิด-19 โดยจะดำเนินการใน 3 ภารกิจหลักประกอบด้วย

          1.ภารกิจเร่งด่วน คือ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะด่วน เช่น เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2564 ให้ได้ต่อเนื่องรวมถึงสัมมนาของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ และอำนวยความสะดวกเปิดด่าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนและส่งเสริมส่งออก สินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจและสังคม และดูแลภาวะสินเชื่อ ภาคธุรกิจ หนี้สินของประชาชนเพื่อให้ผ่านวิกฤติโควิด-19

          2.ภารกิจปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มู่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจรเพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง และปรับโครงสร้างการผลิตของไทยให้สู่มาตรฐานสากล รวมถึงให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสภาพคล่องและการปล่อยซอฟท์โลน โดยเฉพาะธุรกิจ สายการบิน และท่องเที่ยว

          3.ภารกิจการปรับกฎเกณฑ์และระเบียบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติงาน ความโปร่งใส ความคล่องตัว และอำนวยความสะดวกต่อประชาชนมากขึ้น ต้องบูรณาการนโยบายการคลังการเงินกับหน่วยงานอื่น เน้นแก้ปัญหา ที่มีอยู่ให้ตรงจุด

          ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมองโอกาสและความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2564 โอกาสมองถึง เศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญที่กำลังฟื้นตัว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ศึกษาสาเหตุภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า เพราะการล็อกดาวน์เพื่อจำกัด การระบาด แต่น่าสังเกตว่า ระยะหลังแม้การติดเชื้อ จะสูงขึ้นในหลายประเทศทั้งสหรัฐและยุโรป แต่ล็อกดาวน์ไม่ได้เข้มข้นเช่นเดิมเพราะระบบสาธารณสุขดูแลประชาชนได้ระดับหนึ่ง

          หวังวัคซีนหนุนเศรษฐกิจฟื้น

          นอกจากนี้ มีโอกาสจากวัคซีนโควิด-19 ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ จะเห็นว่าระยะหลังเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวธุรกิจจะเร็วแค่ไหนขึ้นกับการปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการ ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19

          ในอนาคตมีโจทย์สำคัญคือโลกยุคหลังโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติเป็นความท้าทายมาก และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระยะต่อไปมีประเด็นต้องพิจารณา เช่น การป้องกันการระบาดระลอก 2 การพัฒนาวัคซีนให้กระจายทั่วถึง การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดการฟื้นตัว โดยเฉพาะท่องเที่ยว ขับเคลื่อน การใช้จ่ายภาครัฐ ขับเคลื่อนส่งออกสินค้า ลดความ เหลื่อมล้ำ เตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย

          ความท้าทายข้างต้น รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ส่วนการกู้เงิน ต้องคำนึงถึงเป้าหมายหลักการดำเนินนโยบายการคลังที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น นโยบายการคลังแบบขยายตัว จึงจำเป็นตราบเท่าที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าศักยภาพประเทศ “การดำเนินนโยบายคลังแบบขยายตัวไม่เพียงทำให้ผ่าน พ.ร.ก.การกู้เงินฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังทำผ่านนโยบายการขาดดุลงบประมาณประจำปี และเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจได้ด้วย และหากต้องกู้เพิ่มในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลยังมี Fiscal Space ตามกรอบวงเงินกู้สูงสุด  ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังของรัฐ”

          “ซีไอเอ็มบี"ปรับเป้าปีนี้ใหม่

          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย  กล่าวว่า ล่าสุดได้ปรับจีดีพีปี 2564 อยู่ที่ 2.6% จากเดิมที่ 4.1% จากโควิด-19 รอบใหม่ที่มีโอกาส ลากยาวต่อเนื่องในไตรมาส 1 ขณะที่ปัจจัยการเมือง อาจกลับมากระทบความเชื่อมั่น และการลงทุน รวมไปถึงความล่าช้าในการเปิดประเทศรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้จะปรับมุมมองค่า เงินบาทปีนี้ เป็นแข็งค่า 28.6 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีจากปัญหาเงินร้อนที่ทะลักเข้าตลาดทุนไทย ทั้งคาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

          นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า สแตนดาร์ดมองเศรษฐกิจไทยคาดการณ์ ไว้ที่ 3.1% ตั้งแต่ที่โควิด-19 รอบใหม่ยังไม่ เกิดจาก 3 ปัจจัยด้วยกันที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่แน่นอนมากขึ้น

          ปัจจัยแรกไม่แน่ใจเรื่องการท่องเที่ยวว่า จะกลับมาได้หรือไม่ และโควิด-19 รอบใหม่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวให้ยากมากขึ้น ถัดมา คือปัจจัยการเมืองที่ต้องจับตาดูใกล้ชิดว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และปัจจัยส่งออก จากผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ผู้ส่งออกอาจส่งออกได้ยากขึ้น

          หวั่นจีดีพีติดลบหากล็อกดาวน์

          นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวกลับมาเป็นบวก 3.4% แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากท่องเที่ยว เดิมคาดว่า นักท่องเที่ยวปีหน้า จะอยู่ที่ 6.4 ล้านคน แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะได้ระดับดังกล่าวหรือไม่ ขึ้นกับวัคซีนว่ามาช้าหรือเร็ว หากมาช้ากว่ากำหนด โอกาสเห็นนักท่องเที่ยวไม่กลับมาในไทยเลยทั้งปี มีโอกาสเกิดขึ้นได้

          นอกจากนี้ โควิด-19 รอบ 2 อาจกระทบการท่องเที่ยว บริโภค ซึ่งประชาชนอาจกลับมา ไม่กังวล แต่อาจกระทบการบริโภคให้ลดลง และต้องมีปิดเมืองเหมือนรอบแรกเชื่อว่ากระทบต่อเศรษฐกิจไทย 3% จาก 12% เมื่อรวม นักท่องเที่ยวที่หายไปด้วย ดังนั้นหากกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้งเชื่อว่าอาจกระทบเศรษฐกิจไทยแน่นอน

          ล็อกดาวน์ฉุดเศรษฐกิจต่ำกว่า2%

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจทีเอ็มบีธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 3.7% อยู่บนเงื่อนไขว่าไม่ล็อกดาวน์ หากควบคุมการแพร่ระบาดได้อาจไม่กระทบเศรษฐกิจไทยมาก ทั้งนี้ ที่กลับมาบวก 3.7% ปัจจัยหลักมาจากบริโภคในประเทศมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคเอกชนจะกลับมาเติบโตระดับ 3.7% หากเทียบปีที่แล้วที่ติดลบ 1.4% การบริโภครัวเรือน ติดลบ 1.4%

          ทั้งนี้ หากโควิด-19 เอาไม่อยู่ สถานการณ์ลากยาวไปสู่ล็อกดาวน์รอบใหม่ มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าระดับ 2%

          นายอภินันท์ ลีลาเชาว์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 2.6% หรือมีค่ากลาง 0.0-4.5% จากเทียบกับปี 2563 แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ แต่เป็นแบบช้าๆ โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มาจากการลงทุนภาครัฐ

          นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มาพร้อมความไม่แน่นอน เพราะต้องพึ่งความหวัง วัคซีน มาช้าหรือเพียงพอหรือไม่ เพราะกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลกครอบคลุมประชากร เพียง 1 ใน 3 ของโลก ขณะที่ไทยจองวัคซีน เพียง 26 ล้านโดส คลุมประชากรเพียง 18-19% ดังนั้นหากไทยฉีดวัคซีนได้น้อยหรือวัคซีน ทั่วโลกมาช้าจะทำให้ท่องเที่ยวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

          อีกทั้งยังเสี่ยงเรื่องจากค่าบาทที่ทั้งปีจะแข็งค่า สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ ลดทอนความสามารถส่งออก สุดท้าย คือการติดตามนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ว่า จะมีมาตรการเข้มข้นกับจีนหรือไม่ ขณะที่การระบาดรอบใหม่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เกินไตรมาสแรกอาจเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมจากการประเมินไว้

ที่มา: