คลัง สั่งพักหนี้ 2 เดือน แบงก์รัฐ-ธ.พาณิชย์ขานรับ

26 ก.ค. 2564 527 0

          รมว.คลัง สั่งแบงก์รัฐพักหนี้เป็นกรณีเร่งด่วนลูกค้าในพื้นที่ล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 เดือน ช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบต้องหยุดกิจการ และรับผลกระทบทางอ้อม จากคำสั่งปิดผนึกพื้นที่สีแดงเข้ม พร้อมให้แบงก์ชาติไปดำเนินการกับแบงก์พาณิชย์ พบทุกแบงก์ขานรับ ด้าน ธอส.-LH Bank จัดพักหนี้นาน 3 เดือน ส่วนออมสินแถมโปรแกรมกลุ่มร้านอาหาร-โรงแรมไม่ต้องจ่ายหนี้ยาว 6 เดือน

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) และมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันมาตรการเพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้ในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ดังนี้

          1. กระทรวงการคลังและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐโดยในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามนโยบายกระทรวงการคลังมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น สถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ยกระดับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดและนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

          2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อยเป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งได้แก่ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดและนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของภาครัฐเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ซึ่งได้แก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

          ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกหนี้ในช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ทันทีเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยลูกหนี้ที่สนใจสามารถติดต่อสถาบันการเงินผ่านช่องทางที่มีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดโอกาสการระบาดของ COVID-19 เช่น แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ศูนย์บริการลูกค้าของสถาบันการเงิน เป็นต้น ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังจะติดตามผลการดำเนินงานและประเมินประสิทธิภาพของมาตรการอย่างใกล้ชิด

          และพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ เสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ

          ด้าน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รายงานว่า จากการที่ภาครัฐได้ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจและลูกหนี้ที่มีฐานะการเงินเปราะบาง มาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกก่อน และได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาด้านรายได้อย่างเร่งด่วนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

          สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) และธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือ EXIM BANK ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) หรือ ibank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์จึงเห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

          สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

          สำหรับการให้ความช่วยเหลือตามแนวทางข้างต้น ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

          ส่วน รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

          สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

          การให้ความช่วยเหลือตามแนวทางข้างต้น ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

          ทั้งนี้ การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ จึงควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้า ที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า

          สำหรับการพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นต่ำ สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้มากขึ้นตามความเหมาะสม

          ธปท. และทุกสมาคม รวมถึงสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จะร่วมกันเร่งรัดและผลักดันการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ธปท.ได้ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ขอให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหารีบติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ใช้บริการอยู่เพื่อรับความช่วยเหลือ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินโดยตรง หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

          อย่างไรก็ดี มีธนาคารหลายแห่งได้ออกมาตรการเพิ่มเติมมากกว่าที่กระทรวงการคลัง และ ธปท.ขอให้ดำเนินการ โดยในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) ออกมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าเป็นเวลา 3 เดือน

          ขณะที่ธนาคารออมสิน ออกมาตรการพักหนี้มากกว่าทุกธนาคาร ซึ่งนอกจากพักชำระหนี้ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ยังจัดพักมาตรการพักชำระหนี้ให้กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรมเป็นเวลานานถึง 6 เดือน โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการพักชำระหนี้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารออมสินตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย จึงออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท

          มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร

          ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใดๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 และเฟสที่สองช่วงเดือนสิงหาคม ลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทางแอป MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือ ติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

          อนึ่ง มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารออมสินประกาศให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ (ให้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง) (2) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ (3) มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) มาตรการแก้หนี้ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา: