คลัง มั่นใจศก.เดินหน้าต่อ โอมิครอนฉุดท่องเที่ยว50%
คลังจับตาโควิดใกล้ชิด เชื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ หลังไม่ล็อกดาวน์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหวัง “โอมิครอน“พีคเร็วจบเร็ว “สแตนชาร์ด“ชี้แพร่ระบาดลากยาวถึงไตรมาส 2 ปี 65 จ่อหั่นเป้าจีดีพีปีนี้ “สทท.“ประเมินรายได้ ท่องเที่ยวต่างชาติวูบ 50% หลังรัฐระงับ Test & Go จ่อดัน “อันดามันแซนด์บ็อกซ์” ดึงนักท่องเที่ยว “อสังหา-อีเวนท์“เล็งแตะเบรกกิจกรรม ชะลอโครงการ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอนอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่า มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศออกมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ขณะที่นักท่องเที่ยว ต่างประเทศยังคงเดินทางท่องเที่ยว ในประเทศได้ผ่านพื้นที่นำร่อง ภายใต้ มาตรการคัดกรองเชื้ออย่างเข้มงวด
สำหรับการระงับการลงทะเบียนประเภท Test & Go คาดว่า จะส่งผลกระทบ ต่อภาคท่องเที่ยวไทยในระยะสั้นเท่านั้น และจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากผ่อนคลายการระงับมาตรการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการคลังจะประเมิน และ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ม.ค.นี้
“สศค. อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ตาม จากผลการประชุมของศบค.ล่าสุดที่ออกมานั้น ยังไม่ได้มีการประกาศล็อกดาวน์ ก็เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่การประกาศห้ามรวมกลุ่มนั้น ก็อาจจะกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนไปบ้าง”
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการ บริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบ จากโอมิครอน ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะสรุปในด้าน ผลกระทบ เพราะหากดูสถานการณ์ใน ต่างประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกาที่เป็นจุดกำเนิด โอมิครอน พบว่า ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว อีกทั้งจากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์มองว่าโอมิครอนจะแพร่กระจายได้เร็วและคลี่คลายเร็วกว่าเดลตา ดังนั้นมองในแง่ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทย อาจไม่ได้ ลากยาว โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้นในการแก้ปัญหานี้
ทั้งนี้หากสถานการณ์ไม่ลากยาว ผลกระทบก็จะมีจำกัดเพียงครึ่งปีแรกของปี 2565 เท่านั้น และหวังว่าครึ่งปีหลัง เมื่อท่องเที่ยวกลับมาได้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตดีขึ้น
ดังนั้น จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์และความรุนแรงของโอมิครอนอีกสักระยะ ในแง่ ผลกระทบ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ แล้วค่อยกลับมาทบทวนจีดีพีใหม่อีกครั้ง ในกลางเดือนก.พ. จากประมาณการณ์ปัจจุบัน ที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.8-3.7% โดยมีค่ากลาง อยู่ที่ 3.5%
“วันนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนได้ ค่อนข้างมากกว่า 100 ล้านโดส และหากโอมิครอน พีคเร็วจบเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายคาด ก็มองว่า จีดีพีในกรอบนี้ยังสามารถยืนอยู่ได้ และค่อยกลับมาประเมินอีกครั้งกลางก.พ.”
เชื่อรัฐไม่ล็อกดาวน์คุมระบาด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าว มองว่า จะไม่ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด เพราะปัจจุบัน ภาครัฐพยายามประคับประคอง และหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มงวด แต่จะเน้นออก มาตรการเฉพาะจุด เพื่อคุมการระบาด มากกว่าล็อกดาวน์ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีในเชิงเศรษฐกิจ ให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ เพราะหากกลับมาล็อกดาวน์ การค้าขายต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ภาครัฐต้องออกมาตรการเยียวยาอีกรอบ ภายใต้ทรัพยากรทางการเงินการคลังที่จำกัด ดังนั้นประเมินว่า ภาครัฐอาจยึดโมเดลเหมือนอังกฤษคือดูแลเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโดยใช้มาตรการเข้มงวดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
โอมิครอนยาวจ่อปรับเป้าจีดีพีปีนี้
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ภายใต้ การขยายตัวของเศรฐษกิจไทยที่ 3.3% ส่วนหนึ่งได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหม่ ของโควิด-19 สำหรับการกลายพันธ์ใหม่ๆ อยู่แล้ว ทำให้ประมาณการณ์ดังกล่าวต่ำกว่า สำนักเศรษฐกิจทั่วไป รวมถึงต่ำกว่าธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)
แต่อย่างไรก็ตามหวังว่า โอมิครอนคง ไม่ยืดเยื้อ จนทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสีย ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปีนี้ ไปทั้งไตรมาส ซึ่งหากโอมิครอน ลากยาวถึง ไตรมาส 2 ปีนี้ อาจต้องกลับมาทบทวนเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยปีนี้ รวมถึงภาพรวมการท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่ประมาณการว่า นักท่องเที่ยวปีนี้จะเข้ามาได้ระดับ 5-6 ล้านคน
“ภายใต้จีดีพีที่ 3.3% เราก็ใส่ผลกระทบจากโควิด-19 ใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี และเดิมเราไม่ได้คิดอยู่แล้วว่า ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวก้าวกระโดด แต่จะค่อยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดปีนี้นักท่องเที่ยวจะได้ 5-6 ล้านคน แต่หากโอมิครอนลากยาว ตัวเลขดังกล่าว อาจเป็นไปได้ยาก เราอาจต้องกลับมาทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง”
ไตรมาสแรกท่องเที่ยววูบ 50%
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.ประเมินว่า จากการปรับมาตรการรับ นักท่องเที่ยวล่าสุดของ ศบค.จะส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ประเทศไทยมีรายได้จาก การท่องเที่ยวหายไป 50% จากที่ควรจะได้
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนท่องเที่ยวอยากเห็นการกลับมาเปิดระบบรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขเสริมอาทิ การปรับปรุงแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ให้ติดตาม นักท่องเที่ยวได้ทุกคน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมา เที่ยวไทยอีกครั้งก่อนหมดไฮซีซั่นเดือน พ.ค. ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งประกาศ และสื่อสารต่อสาธารณชนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า โอมิครอนมีการติดเชื้อและ รักษาอย่างไร เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ระบาดระลอก 5 ได้ถูกต้องและเหมาะสม
“หากปิดรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go ไปเรื่อยๆ จะทำให้หมดโอกาสในการตุนยอด นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ประกอบการกลับมา เดือดร้อนกันอีกครั้ง หลังจากเริ่มดึงพนักงาน กลับมาทำงานตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ถ้าปิดๆ เปิดๆ แบบนี้ต่อไปจะเจ๊งเอาได้”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลได้ขยายพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ในอีก 3 จังหวัดเพิ่มเติมจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นับเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในเมืองท่องเที่ยวหลักซึ่งพึ่งพิงรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
นางสาวชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การระบาดของโอมิครอนเป็นสถานการณ์ใหม่ ผู้ประกอบการเองไม่อยากเสี่ยงรับนักท่องเที่ยว Test & Go จึงเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะต้องชะลอหยุดรับนักท่องเที่ยวประเภทนี้ไปก่อน
“การที่ ศบค.เพิ่งอนุมัติเปิดแซนด์บ็อกซ์ 3 จังหวัด มองว่าช้าไป หากต่อเนื่องหลังระงับ ลงทะเบียน Test & Go จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยดีกว่านี้เพราะไม่ต้องหยุดชะงัก ตอนนี้จึงสร้างความสับสนแก่นักท่องเที่ยว อาจตัดสินใจไปเที่ยวประเทศอื่นแทน แต่การเปิด กระบี่แซนด์บ็อกซ์ 11 ม.ค.เป็นต้นไป เราจะสู้กัน อีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจดึงนักท่องเที่ยว กลับมา”
แซนด์บ็อกซ์หนุนอัตราเข้าพักกระบี่
ขณะที่ภาพรวมการเข้าพักของ จ.กระบี่ เมื่อเดือน ธ.ค.2564 เฉลี่ย 30-40% แม้จำนวนลูกค้า ไม่มาก แต่ส่วนใหญ่พำนักยาว คาดว่าอัตราการเข้าพักช่วงไตรมาสแรกนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 30% เดือน ม.ค.จะรักษาระดับให้ได้ที่ 20% หลังระงับนักท่องเที่ยว Test & Go แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังเดินทาง เข้ากระบี่แซนด์บ็อกซ์ได้ น่าจะทำให้เดือน ก.พ. มีอัตราเข้าพักที่ 30% ส่วน มี.ค.เพิ่มเป็น 40%
“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในกระบี่ กังวลกับการระบาดโควิดระลอก 5 โดยช่วงพีคที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายมีการจ้างงานกลับมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวราว 30% ส่วนใหญ่ มาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ช่วงนี้ที่ต่างชาติชะงักไป จึงยังไม่ถึงกับต้องปลดหรือลดพนักงาน”
เร่งดัน “อันดามันแซนด์บ็อกซ์”
นางสาวศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า แนวทางรับนักท่องเที่ยว กระบี่แซนด์บ็อกซ์ ต้องเข้าพักและท่องเที่ยวในกระบี่ อย่างน้อย 7 คืน ตั้งแต่ วันที่เดินทางมาถึง และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 หากเดินทางด้วยเที่ยวบินลงสนามบินภูเก็ต ต้องเข้ารับ การตรวจหาเชื้อที่สนามบินภูเก็ตแล้วโดยสารด้วยรถตามที่กำหนดในรูปแบบ Sealed Route ตรงเข้าโรงแรมในกระบี่ เพื่อรอฟังผลตรวจในห้องพัก เมื่อผลเป็นลบ ถึงจะออกนอกห้องพักไปท่องเที่ยวได้
กรณีที่เดินทางด้วยเที่ยวบินลงสนามบินกระบี่ ต้องโดยสารด้วยรถที่กำหนด เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ แล้วจึงเดินทางมารอฟังผลตรวจที่ห้องพักในโรงแรม เมื่อถึงกำหนดตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ไม่พบเชื้อ จึงท่องเที่ยวและเข้าพักในจังหวัดอื่นๆ ได้
“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน 3 จังหวัด กระบี่ พังงา และภูเก็ต อยากได้ อันดามัน แซนด์บ็อกซ์ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเชื่อมโยงได้ภายใน 3 จังหวัดช่วง 7 คืนแรกที่เดินทางมาถึง แต่โอมิครอนที่ระบาดเร็ว จึงต้องแยกพื้นที่ แซนด์บ็อกซ์แต่ละจังหวัดก่อนตามมติของ ศบค. หากควบคุมโรคได้ดีในแต่ละจังหวัดจะนำเสนออันดามันแซนด์บ็อกซ์อีกครั้ง”
กระบี่-ภูเก็ตเร่งหา Hotel Isolation
ล่าสุดจังหวัดกระบี่ เปิดรับสมัคร Hotel Isolation หรือโรงแรมที่มีความพร้อมให้ นักท่องเที่ยวของโรงแรมที่ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวต่อในห้องพักโดยไม่ต้องย้ายออกไป โรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล (Hospitel) เบื้องต้นจัดหา Hotel Isolation ให้ได้ 500 ห้องพัก เสริม ห้องพักในกระบี่ ที่เป็นสถานกักกันทางเลือก (AQ: Alternative Quarantine) และฮอสพิเทล ซึ่งปัจจุบันมี 80 แห่ง 5,000 ห้อง
โดยมีโรงแรมยื่นสมัครเป็น Hotel Isolation แล้ว 5-6 แห่ง แต่ช่วงไฮซีซั่นนี้มีนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงกังวลว่าหากนำโรงแรมเข้าเป็น Hotel Isolation อาจไม่เพียงพอ ในการรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยวไทย
ส่วนภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดหาสถานที่ด้วยการเจรจากับโรงแรมต่างๆ เป้าหมายการหา Hotel Isolation และฮอสพิเทล ล็อตแรก 500 ห้องพัก ล็อตต่อไปจะเพิ่มเป็น 1,000 ห้องพัก
คุมค่าใช้จ่ายแตะเบรกโครงการใหม่
นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนถือเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีรับ ปีใหม่ เรียกว่าสร้างความหนักใจให้ภาคธุรกิจอีกครั้งว่า จะควบคุมสถานการณ์ได้ดีขนาดไหน
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ เฝ้าระวังสถานการณ์ และประเมินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะที่การก่อสร้างยังคงเดินหน้าต่อไปได้ตามแผน ไม่สามารถหยุดได้ ยกเว้นโครงการที่ยังไม่ลงมือ ก่อสร้างอาจต้องชะลอไปก่อน ซึ่งการลงทุนระดับ 1,000 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไม่สามารถใช้แผนปกติได้
กระทบธุรกิจไตรมาสแรก
นายบุญ ยงสกุล รองนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ภูเก็ต และประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด กล่าวว่า การระบาดของ โอมิครอนกระทบเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรก นักท่องเที่ยวชะลอ และหยุดการเดินทาง
สำหรับไตรมาส 2 และ 3 กรณี Base Case สถานการณ์ไม่รุนแรง จะส่งผลดีต่อไตรมาส 3 คาดว่าไตรมาส 4 จะทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ ตามปกติมากขึ้น แต่ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า และ เกิดการล็อกดาวน์จะกลายเป็น Worst Case ทันที
นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดครั้งนี้จะกระทบรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการรับมือการแพร่ระบาดได้อย่างไร แต่เบื้องต้น มีผลทางจิตวิทยาในการจับจ่ายแน่นอน
อีเวนท์วูบต่อเหตุด่านแรกถูกตัดงบ
นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า การระบาด ของสายพันธุ์โอมิครอนกระทบธุรกิจอีเวนท์ทันที จากมาตรการคุมเข้มระดับ 4 งดการรวมตัว 5 คน
“ต้องการให้มาตรการล็อกดาวน์เป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐจะดำเนินการ สิ่งสำคัญรัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนต่อเนื่อง เชื่อว่าใน 1-2 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลงได้ สำหรับภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ คาดจะเห็นการฟื้นตัว ใน 2 ปี”
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ