คลัง ชงเยียวยารอบใหม่ อัดแสนล้านต่อ เราชนะ

20 เม.ย. 2564 528 0

          รัฐบาลเตรียมคลอดเยียวยา โควิดรอบใหม่ “คลัง“ชง ครม.เคาะแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชน เล็งต่อ “เราชนะ” เพิ่ม 1-2 เดือน สำนักงบฯ เผยงบกลาง-งบเงินกู้ใช้ดูแลโควิดได้ 2.6 แสนล้าน ไม่ปิดทางกู้เพิ่ม ส.อ.ท.พร้อมผนึกรัฐ จัดหากระจายวัคซีน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 เม.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ให้ ครม.พิจารณา เพราะประเมินว่าผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบประชาชนวงกว้าง โดยการระบาด รุนแรงและกระจายไปทุกจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพและทำให้บางกลุ่มขาดรายและได้รับความเดือดร้อน

          ส่วนมาตรการที่จะเสนอให้เยียวยาประชาชนเบื้องต้นคล้ายมาตรการที่ใช้เมื่อมีระบาดครั้งที่ผ่านมา โดยจะเสนอต่ออายุมาตรการ “เราชนะ” อีก 1-2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.2564 เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้วงเงิน 1-2 แสนล้านบาทโดยจ่ายตรงให้กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อยและดำเนินการต่อเนื่องได้เร็ว

          ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบในหลักการให้มีมาตรการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ก็ต้อง เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบโยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ปัจจุบันเหลือไม่มากให้มาอยู่ในวงเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

          สำหรับมาตรการ “เราชนะ” เป็นการ ช่วยเหลือประชาชนด้วยการจ่ายเงินเยียวยาที่ต่อยอดมาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” เมื่อ ปี 2563 โดยมาตรการ “เราชนะ” ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2564 จ่ายเงินให้ผู้มีอาชีพอิสระคนละ 3,500 บาทต่อเดือน รวม 2 เดือน มีผู้ได้รับ 30 ล้านคน รวมวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท

          สศช.หวั่นระบาดทั่วประเทศ

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจกำลังหารือร่วมกัน ซึ่งจะมีมาตรการออกมาเยียวยาประชาชนออกมา แต่ขอรอความชัดเจนในรูปแบบมาตรการ

          “การระบาดรอบนี้กระทบทั่วประเทศ ไม่ต่างจากในครั้งที่ผ่านมาที่ผู้ได้รับผลกระทบ ก็ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ แต่อยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ขอให้รอดูรูปแบบมาตรการที่จะออก ซึ่งหลายฝ่ายกำลังทำงานร่วมกัน”

          นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ปัจจุบันวงเงินสำหรับดูแลผลกระทบจากโควิด-19 เหลือ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.งบตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เหลือวงเงิน 2 แสนล้านบาท 2.งบกลางในปี 2564 ตั้งไว้ 1.39 แสนล้านบาท ใช้สำหรับรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางสำหรับโควิด 4 หมื่นล้านบาท

          ปัจจุบันงบกลางรายการสำรองจ่ายฯ ใช้ไปแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 8 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนคืองบกลางโควิดคงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท โดย 2 หมื่นล้านบาทที่ใช้ไปสำหรับมัดจำวัคซีน และอีกส่วนไปเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมแล้วงบกลางที่คงเหลือทั้ง 2 ส่วนที่ใช้ได้ 1 แสนล้านบาท

          “งบกลางที่เหลือ 1 แสนล้านบาท ใช้เยียวยา โควิดได้ 5-6 หมื่นล้านบาท เพราะสำนักงบประมาณต้องกันงบกลางบางส่วนรองรับภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือภัยอื่น 4-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรวมแล้วเมื่อดูงบเงินกู้และงบกลางใช้เยียวยาประชาชนได้อยู่ที่  2.5-2.6 แสนล้านบาท” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

          แปรญัตติงบปี65ดูแลโควิด

          นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่สภา ผู้แทนราษฎร จะมีช่วงการอภิปรายงบประมาณวาระ 1 และ 2 ระยะเวลา 120 วัน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ถ้ามีการประเมินว่า ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ก็สามารถปรับลดงบประมาณของส่วนราชการมาจัดทำเป็นงบกลางรายจ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาผล กระทบจากภัยพิบัติโควิด-19 ได้

          นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอนักวิชาการ และภาคเอกชนที่ขอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม ว่า เป็นเรื่องที่เก็บไว้เสมือนเป็นกระเป๋าหลังของรัฐบาลหากจำเป็นก็เป็นแนวทางที่ทำได้ โดยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60% โดยหากจำเป็นก็ขยายเพิ่มขึ้นได้ และระดับหนี้สาธารณะของหลายประเทศก็สูงกว่าไทยมาก

          ทั้งนี้การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ก็หารือว่าการกู้เงินเพิ่มเติมจะต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยเน้นพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เช่นเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (BCG Economy)

          การส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางเชิงนิเวศ เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและข้อมูล (Digital Hub)

          “กรอบวินัยการเงินการคลังที่อยู่ที่ 60% นั้นเราใช้กันเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะปกติ แต่ 1 - 2 ปีมานี้ต้องยอมรับว่าประเทศ ไม่ปกติ ประเทศเสียหายเพราะเกิดการระบาดของโควิด-19 หากกู้เงินเพิ่มเพื่อการลงทุนที่รัฐบาลจะนำการลงทุนในเรื่องต่างๆ แล้วให้เอกชนเคลื่อนตามก็เป็นเรื่องที่ควรทำโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถมากขึ้นด้วย ซึ่งการลงทุนแบบนี้ภาครัฐและเอกชนต้องลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน”

          ส.อ.ท.หนุนรัฐเร่งวัคซีน

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.พร้อมช่วยรัฐบาลด้านวัคซีนเต็มที่ โดยเน้น 4 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มจำนวนวัคซีน ซึ่งจะผลักดันให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น2.วิธีการฉีดวัคซีน ส.อ.ท.จะทำแพลตฟอร์มและวีดิทัศน์สอนการฉีดวัคซีนที่ถูกต้องแบบออนไลน์ เพื่อสร้างบุคลากรการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ เช่น การนำนักศึกษาแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลมาช่วยฉีดวัคซีน

          3.การกระจายวัคซีน โดยได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อประสานโรงงานและสถานประกอบการในพื้นที่เป็นจุดกระจายฉีดวัคซีน เพื่อเข้าให้ถึงชุมชน ทั่วประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีด4.การสร้างความเชื่อมั่นหลังฉีดวัคซีน ส.อ.ท.จะทำแพลตฟอร์มบนมือถือ เพื่อแสดงยืนยันการฉีดวัคซีน และสนับสนุนการจัดทำเอกสารป้องกันการปลอมแปลงเพื่อยืนยันการฉีดวัคซีน ซึ่งกรณีร้านอาหารหรือสถานที่ทั่วไปก็แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนบน มือถือ แต่หากบางสถานที่มีความเข้มงวดหรือการไปต่างประเทศจะมีเอกสารที่ป้องกันการปลอมแปลงยืนยัน เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และทุกธุรกิจเดินหน้าได้

ที่มา: