ครม.เคาะ คนละครึ่ง เฟส2 ดันเงินหมุนเวียน แสนล้าน
ครม.ทุ่ม 4.25 หมื่นล้าน กระตุ้นบริโภค ดัน “คนละครึ่ง” เฟส 2 ลงทะเบียน 16 ธ.ค.รับ 3,500 บาท ให้สิทธิเพิ่ม 5 ล้านคน พร้อมช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐต่อ ม.ค.-มี.ค.64 จ่ายเพิ่มเดือนละ 500 บาท หวังเงินหมุนเวียน 1.05 แสนล้าน ดันเศรษฐกิจ 0.32%
การกระตุ้นการบริโภคเป็นมาตรการช่วงปลายปีที่รัฐบาลวางแผนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ได้รับการตอบรับ ที่ดีทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 15 ล้านคน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบช่วยเหลือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ โดยให้วงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-มี.ค.2564 สำหรับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13.7 ล้านคน วงเงิน ไม่เกิน 2.07 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยากลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่นช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 2 เริ่ม 1 ม.ค.มี.ค.2564 เช่นกัน ประกอบด้วยผู้ได้รับสิทธิเดิมตามโครงการคนละครึ่งจำนวนไม่เกิน 10 ล้านคน และผู้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวนไม่เกิน 5 ล้านคน
รวมถึงผู้ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ร้านค้าที่ร่วมโครงการ จำหน่ายสินค้าประเภท อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยไม่รวมถึงสินค้าสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และบริการต่างๆ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน วงเงินรวม 2.25 หมื่นล้านบาท
สำหรับผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวน 15 ล้านคน ประกอบด้วย ผลทะเบียนเดิมจะได้สิทธิสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป จากภาครัฐเพิ่มเติม 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2564 หรือไม่เกิน 3,500 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
ส่วนผู้ลงทะเบียนใหม่ เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป ในเวลา 06.00-23.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และยืนยันตัวตนผ่านระบบ g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อรับสิทธิตามโครงการ โดยใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564 และจะได้สิทธิไม่เกิน 3,500 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เงื่อนไขของโครงการ
“โครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 ที่ ครม.อนุมัติคาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีขยายตัว 0.14% แต่เมื่อรวมทั้ง 2 ระยะ มีเงินหมุนเวียนในระบบจะสูงถึง 105,000 ล้านบาท จีดีพีขยายตัว 0.32%” นายอนุชา กล่าว
นอกจากนี้ โครงการนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกระตุ้นการบริโภค ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก”
เพิ่ม1ล้านสิทธิเที่ยวด้วยกัน
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 1 ล้านคืน จากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน จากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ สามารถจองที่พักเพิ่มอีก 5 คืน เป็น 15 คืน ต่อ 1 สิทธิ การจองโรงแรมที่พัก จากช่วงเวลา 06.00-21.00 น. เป็นช่วงเวลา 06.00-24.00 น. และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.2564 เป็นวันที่ 30 เม.ย. 2564
รวมทั้งสนับสนุนค่าเครื่องบินจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่และเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พร้อมปรับลดวงเงินเหลือ 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนใช้สิทธิโรงแรมแล้ว 4 ล้านสิทธิ เบิกจ่ายเงินกู้ไปเพียง 4,195 ล้านบาท คิดเป็น 20.97% ของวงเงินโครงการ
“เที่ยววัยเก๋า"จ่อเข้า ครม.
ส่วนโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) อนุมัติให้ดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้นยังไม่เสนอเข้า ครม.ซึ่งคงต้องรอให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้พิจารณาก่อน
ทั้งนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทะเบียนและใช้สิทธิ โครงการไม่คิดเป็นวันลา 2 วันโดยกำหนดให้แสดงหลักฐานประกอบการลา โดยต้องมีหลักฐานแสดงการลงทะเบียน หลักฐานการเช็คอินและเช็คเอาท์โรงแรม
ครม.เห็นชอบปรับปรุงรายละเอียด “โครงการกำลังใจ” เปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการต้องเป็นบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวโดยจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 รวมบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ กรอกเพิ่มเติมได้ และหากกรอกครบ 15 รายการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
“คลัง“เซ็นกู้แล้ว3.7แสนล้าน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 กระทรวงการคลังลงนามสัญญากู้เงินและออกตราสารหนี้ภายใต้พระราชกำหนดแล้ว 373,761 ล้านบาท คิดเป็น 37.38% ของวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.
ขณะที่ ครม.ได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว 46 โครงการ วงเงินรวม 476,587 ล้านบาท และหน่วยเจ้าของโครงการได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว 298,071 ล้านบาท คิดเป็น 62.54% ของกรอบวงเงินตามที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งกระทรวงการคลังจะทยอยกู้เงินเมื่อ ครม.อนุมัติโครงการเพิ่มเติม
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ