กูรูกฎหมายแนะเลิกภาษีมรดก ชี้ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง-ชงเก็บจากโอนอสังหาฯแทน

25 ม.ค. 2567 321 0

 

       “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” กูรูกฎหมายภาษี ห่วงแนวคิด “เก็บภาษีเงินได้ทั่วโลก” แบบสหรัฐ-ทำไทยแข่งขันไม่ได้ เชื่อได้ไม่คุ้มเสีย ชงวิธีง่ายสุด “เพิ่มภาษี VAT” ทำได้ทันที

       ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวในหัวข้อเรื่อง “แนวทางการเก็บภาษีความมั่งคั่งในไทย (Wealth Tax in Thailand)” ในงานสัมมนาแฟลกชิป ประจำปี 2024 ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรว่า การเก็บภาษีความมั่งคั่งในประเทศไทย (Wealth Tax in Thailand) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน เห็นได้ที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี จะแก้กฎหมายเก็บภาษีมรดก เพราะเก็บภาษีได้น้อย

      “ปี 2559 ที่กฎหมายใช้บังคับเก็บภาษี มรดกได้ 0 บาท ต่อมาปี 2560 เก็บได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท จากนั้นในปี 2566 เก็บภาษีได้แค่ 618 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าจะจัดเก็บ 4,000 ล้านบาท ถือว่าต่ำเป้าไปมาก เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าภาษีมรดกเก็บไม่ได้มาก เพราะเก็บตามจำนวนคนตายที่ไม่ได้วางแผน ผ่านมา 5 ปีเก็บภาษีได้เฉลี่ยไม่ถึง 500 ล้านบาท ซึ่งผมเคยเขียนบทความไว้เมื่อปี 2562 ว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว กฎหมายนี้ควรต้องยกเลิก แต่รัฐบาลกลับจะแก้กฎหมายให้หนักขึ้นไปอีก”

      ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เกาหลี, ญี่ปุ่น ที่จัดเก็บภาษีมรดก 50-55% บรรดาเศรษฐีคงมีหนาว เพราะแค่ 10% คนก็กลัวกันแล้ว ซึ่งตอนออกกฎหมายตนได้ค้านว่าไม่ควรเก็บภาษี และช่วงนั้นคนตกใจ เอาเงินออกไปเป็นแสนล้านบาท ทั้งเงินสดและหุ้นไปอยู่ต่างประเทศกันหมด ดังนั้นวันนี้หากจะเพิ่มอัตราภาษี ดังกล่าว จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแค่ออกข่าวเงินก็น่าจะหาที่ไปแล้ว

      ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ตนเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกจัดเก็บภาษีมรดก โดยหันไปจัดเก็บภาษีโอนอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ที่โอนผ่านกองมรดกแทน เพราะทุกวันนี้กฎหมายไทยยกเว้น (กรณีโอนเงินได้แต่ละกองมรดกในมาตรา 42)

       “เมื่อปี 2476 เคยจัดเก็บภาษีมรดกในอัตรา 20% ของทรัพย์มรดก 10,000 บาท ใช้มาเป็นระยะเวลา 11 ปี ยกเว้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงกลายเป็นช่องว่างของผู้ได้รับมรดก ไม่ต้องเสียภาษีมาตลอดจนกระทั่งปี 2558 ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือยกเลิกการยกเว้นตรงนี้ และให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax) ของที่ดิน เช่น มูลค่าที่ดินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งถ้าเป็นบริษัทจะไม่โดน

        หรือเพิ่มอากรสแตมป์ (Stamp Duty) 0.5% อาจจะต้องแก้กฎหมายแบบสิงคโปร์ ซึ่งทุกวันนี้สิงคโปร์และฮ่องกงไม่ได้เก็บภาษีมรดก แต่เก็บอากรแสตมป์ตอนโอนทั้งทรัพย์สินและหุ้น วิธีนี้ รัฐได้เงินเลย แต่อาจต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า แต่ไม่ควรจะเกิน 10-15%”

        ถัดมาภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (Land & Building Tax) ซึ่งภาครัฐกำลังปรับอยู่ ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บถึงระดับสูงสุด (Ceiling)

        ต่อมาภาษีตลาดทุน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีแนวคิดจะมีการจัดเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้น (Financial Transaction Tax) แต่สุดท้ายก็ไม่เก็บ ส่วนที่จะมีความ อ่อนไหวมาก คือ การจัดเก็บภาษีกำไรจาก การขายหุ้น (Capital Gain Tax) หากวันหนึ่งรัฐบาลไม่มีเงิน งบประมาณไม่พอ สามารถทำได้ทันที เพราะว่า Capital Gain Tax ไม่ต้องแก้กฎหมายผ่านรัฐสภาด้วยซ้ำ แค่ยกเลิกข้อยกเว้นก็เรียบร้อย ดังนั้นคงขึ้นอยู่กับความกล้าของรัฐบาล

       “มีการคุยกันว่า หากมีการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ควรจะนำเงินส่วนหนึ่งจัดตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคงจะต้องไปพิจารณากฎหมายเรื่องวินัยการเงินการคลังก่อน ว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นเรื่องที่ดี”

         นอกจากนี้ อีกแนวทางที่น่ากลัวคือ รัฐบาลจะมุ่งไปจัดเก็บภาษีเงินได้ทั่วโลก (Global Income Tax) แบบสหรัฐอเมริกา หมายความว่าไม่ว่า จะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ก็ต้องจ่ายภาษี ซึ่งได้มีการคัดค้านไปแล้ว เพราะอาจทำให้ประเทศไทยแข่งขันไม่ได้ ในขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงเก็บภาษีจากเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินการ Global Income Tax ต้องแก้ประมวลรัษฎากรทั้งฉบับ ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะรับฟัง เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

        ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ไม่ว่าจะนำเข้ามาปีไหนก็จะต้องเสียภาษีหมด สำหรับรายใหญ่ไม่นำเงินกลับเข้ามาแน่นอน จึงไม่ใช่ประเด็น ส่วนรายกลางและเล็ก ที่มีเงิน 5 ล้านบาท, 10-20 ล้านบาท, 100 ล้านบาท แนะนำว่า ถ้าไม่นำเงินกลับเข้ามาจะดีที่สุด แต่ถ้านำเข้ามาและถูกประเมิน ขอให้สู้คดี แต่ถ้าจะไม่ยื่นภาษีมีความเสี่ยง เพราะอายุความ 10 ปี ดังนั้นคนที่ไม่เคยยื่นภาษีแนะนำให้ยื่นภาษี เพราะในวันข้างหน้าการที่จะอยู่นอกระบบภาษีมีความยากขึ้นมาก

        “Wealth Tax ตอนนี้กำลังมา ผมเคยตั้งคำถามว่า จะให้ง่ายสุด ก็คือเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เลย เพราะขึ้น 1% เก็บรายได้ได้ 10,000 ล้านบาท และมีช่องให้ขึ้นได้อีก 3% มีโอกาสเก็บภาษีได้ระดับกว่าแสนล้านบาท”

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้สั่งการให้กรมสรรพากรศึกษาการปรับปรุงภาษีมรดก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ ให้มีรายได้เข้ารัฐมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางกรมสรรพากรศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการเสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบ การแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บภาษีมรดก จากปัจจุบันจัดเก็บที่อัตรา 5-10%

 

ที่มา: