กลุ่มทุนใหญ่ แห่ช็อปโรงแรม คาดปี65ยอดซื้อขายในไทยหมื่นล้าน

28 ก.ย. 2565 294 0

 

         “โจนส์ แลง ลาซาลส์” ชี้ธุรกิจโรงแรมยังอ่วม เผยครึ่งปีแรกจำนวนผู้เดินทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังลดลง 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี’62 ก่อนการระบาดโควิด-19 ดันยอดซื้อขายโรงแรมทั่วเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดยอดซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยปีนี้อยู่ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท กลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ องค์กร private equity จะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่

          นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมโรงแรมอย่างหนัก จำนวนการออกเดินทางของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 ลดลงสูงถึง 90% ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนการระบาดโควิด-19

          โดยเหตุผลหลักเกิดจากแต่ละชาติในภูมิภาคดังกล่าวยังคงมีมาตรการควบคุมการเดินทางอยู่หลายประเทศยังไม่เปิดพรมแดนเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งในปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวมากถึงเกือบ 40 ล้านคน

          ปี’67 นักท่องเที่ยวฟ้นเท่าปี’62

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี (scenario) ได้แก่ 1.ในกรณีที่ดีที่สุด (best case) คาดว่า ในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 120% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

          2.กรณีฐาน หรือระดับกลาง (base case) คาดว่าในปี 2567 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 100% หรือเทียบเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19 และ 3.กรณีเลวร้าย (worst case) คาดว่าในปี 2567 ภูมิภาคดังกล่าว จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่ถึง 80% ของปี 2562

          ยอดซื้อ-ขายโรงแรมพุ่งสูง

          นายจักรกริชกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2565 ยอดการทำธุรกรรมซื้อขายโรงแรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและอเมริกาปรับตัวสูงขึ้น โดยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีปริมาณการทำธุรกรรมตลอด 6 เดือนแรกคิดของปี 2565 คิดเป็นมูลค่าราว 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.5 แสนล้านบาท

          โดยเม็ดเงินดังกล่าวสูงกว่าการทำธุรกรรมของภูมิภาคนี้ตลอดทั้งปี 2563 และคิดเป็นสัดส่วนราว 73% ของมูลค่าการทำธุรกรรมตลอดทั้งปี 2564 ไปแล้ว

          ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลในหัวข้อ “การลงทุนในโรงแรมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครึ่งปีหลัง 2564” โดย JLL พบว่า นักลงทุนกว่า 62% สนใจที่จะซื้อโรงแรม โดยราคาที่ผู้ซื้อ-ผู้ขายโรงแรมจะลดได้ (expected discounts) ฝ่ายผู้ซื้ออยู่ที่ 18% และฝ่ายผู้ขายอยู่ที่ 3% ต่างจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 20% ต่อ 10% ตามลำดับ

          คาดปีนี้ในไทยซื้อ-ขายหมื่นล้าน

          นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ซื้อสนใจอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น (21%) ไทย (13%) และออสเตรเลีย (12%) โดยมองว่าประเทศไทยมีจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่อื่น ๆ

          “คาดว่าในปี 2565 นี้ ปริมาณการทำธุรกรรมซื้อขายโรงแรมในไทยจะอยู่ที่ราว 8,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ราว 12,000 ล้านบาท” นายจักรกริชกล่าว

          ผู้ลงทุนรายใหญ่ไล่ช็อป

          นายจักรกริชกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มของผู้ซื้อโรงแรมในไทยระหว่างปี 2564-2565 เทียบจากปริมาณการทำธุรกรรม (transaction volume) จะมีสัดส่วนมาจากนักพัฒนาโครงการอสังหาฯ (developer) จำนวน 17% ผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth individual) กลุ่มองค์กร (corporate) จำนวน 43% กองทุนลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด (private equity) 5% โรงแรม/SA operator 8% และอื่น ๆ 27%

          โดยสัญชาติของผู้ซื้อโรงแรมในปี 2564-2565 จะมีสัดส่วนเป็นชาวไทย 42.3% ฮ่องกง 25.5% สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ 21.9% ชาวอเมริกัน 6.4% ชาวจีน 2.8 และอื่น ๆ 1.1% เปลี่ยนแปลงจากเดิมในปี 2553-2563 ที่ชาวไทยครองสัดส่วนของผู้ซื้อถึง 63.7% ตามมาด้วยชาวสิงคโปร์ 14.5% ชาวอเมริกัน 5.6% ชาวมาเลเซีย 5.6% ชาวฮ่องกง 4% และอื่น ๆ 6.8%

          ทุนไทย 92.5% แห่ขาย

          ส่วนกลุ่มผู้ขายโรงแรมในไทยในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เทียบจากปริมาณการทำธุรกรรม (transaction volume) จะมีสัดส่วนมาจากนักพัฒนาโครงการอสังหาฯ จำนวน 61% ผู้ลงทุนรายใหญ่หรือองค์กร จำนวน 4% กองทุนลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด 6% โรงแรม/SA operator 24% และอื่น ๆ 5%

          โดยสัญชาติของผู้ขายโรงแรมในไทยระหว่างปี 2564-2565 จะมีสัดส่วนเป็นชาวไทยสูงถึง 92.5% ชาวสิงคโปร์ 6.4% และชาวญี่ปุ่น 1.1% ขณะที่ระหว่างปี 2553-2563 ที่ชาวไทยครองสัดส่วนของผู้ขาย 80.7% ตามมาด้วยชาวสิงคโปร์ 4.5% ชาวอเมริกัน 4.1%

          กทม.-ภูเก็ต-เกาะสมุย เนื้อหอม

          นายจักรกริชกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวโน้มของการซื้อขายโรงแรมในปี 2566 นั้นมองว่ากรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย ยังเป็น 3 จุดหมายหลักที่ นักลงทุนให้ความสนใจ โดยช่องว่างระหว่างราคาของผู้ซื้อและผู้ขายยังคงมีอยู่แต่จะลดน้อยลง

          อีกทั้งประเมินว่ากลุ่มผู้ลงทุน รายใหญ่ (HNWI), องค์กร และกลุ่ม private equity จะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ และปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุนในธุรกิจโรงแรม

          “แนวโน้มที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนที่เข้ามาไม่ได้เป็นนักลงทุนแบบดั้งเดิม ที่ทำธุรกิจโรงแรมมาก่อน แต่เราเริ่มเห็นกลุ่มทุนใหม่ ๆ ที่เข้ามาซื้อขายโรงแรมในไทย” นายจักรกริชกล่าว

 

ที่มา: