กราฟขาขึ้น! อสังหาฯปี 65 โกยรายได้ 3.34 แสนล. 10 รายใหญ่กำไร 4.1 หมื่นล. สปีดเร็วปี 66 ขึ้นโปรเจกต์เบียดแชร์รายเล็ก

02 มี.ค. 2566 240 0

อสังหาริมทรัพย์

          การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา เริ่มเป็นสัญญาณบวกต่อภาคธุรกิจ และต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเกี่ยวโยงกับการเติบโตของประเทศ แต่นอกเหนือจาก ปัจจัยดังกล่าวแล้ว การที่ธุรกิจอสังหาฯ มียอดขายและรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ปี 2565 เนื่องจากมาตรการของรัฐต่อภาค อสังหาฯจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และความชัดเจนที่จะ ไม่ผ่อนคลายมาตรการปล่อยสินเชื่อเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV) และการเร่งของอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 กลายเป็น “ตัวเร่ง” ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยและโอนบ้านและ คอนโดฯ เร่งทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของบริษัทอสังหาฯโดดเด่นขึ้น

          และจากทิศทางที่ดีจากปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปี 2566 หลายธุรกิจเริ่มขยับตัวขึ้น ถึงแม้จะยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านอื่นๆ อยู่ แต่เชื่อว่าจากปัจจัยบวกในเรื่องของการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศจะกระตุ้น เซนติเมนต์ที่ดีให้เกิดขึ้น

          กางข้อมูล 37 บมจ.อสังหาฯ

          รายได้และกำไรปี 65 พุ่ง

          บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้รวบรวมผลการดำเนินงานปี 2565 ของ 37 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ผลประกอบการปี 2565 ของ 37 บริษัทอสังหาฯ รายได้รวมและกำไรเพิ่มขึ้น

          โดยมีรายได้รวม 334,267.35 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 44,421.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.05% และ 27.94% จากปี 2564 ตามลำดับ

          ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย ปี 2565 อยู่ที่ 13.28% เพิ่มขึ้นจาก 11.57% ในปี  2564 โดยมีบริษัทที่มีกำไรทั้งสิ้น 28 บริษัท และบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน 9 บริษัท

          เมื่อพิจารณาเฉพาะผลการดำเนินงานของ 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สูงสุด พบว่า 10 บริษัทที่มี รายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 252,092.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.14% ของรายได้รวมของ 37 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

          ในขณะที่ 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำไรสูงสุด พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 41,850.30 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 94.21% ของกำไรสุทธิรวมทั้ง 37 บริษัท

          สินค้าคงเหลือในระบบพุ่งกว่า 6 แสน ลบ.

          ใช้เวลาระบายหมด 18-24 เดือน

          ในขณะที่สินค้าคงเหลือ บวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 37 บริษัทอยู่ที่ 600,548.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.96 % เทียบกับ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จากจำนวนสินค้าคงเหลือบวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาดังกล่าวเปรียบเทียบกับรายได้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ต้องใช้ระยะเวลาในการขายประมาณ 18-24 เดือน (กรณีที่ไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่)

          ‘แสนสิริ-เอพี-ศุภาลัย’ สินค้าคงเหลือ

          ทะลุ 2 แสน ลบ.

          โดยที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าสินค้าคงเหลือและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสูงสุดที่ 85,859.15 ล้านบาท ตามมาด้วย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) 65,675.18 ล้านบาท และ บริษัท เอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ 55,260.79 ล้านบาท

          โผไม่เปลี่ยน! ‘LH’ แชมป์กำไร

          บริษัทอสังหาฯ ที่มีรายได้สูงสุดคือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีรายได้สูงสุด โดยมีรายได้รวม 38,702.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.02% เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 8,318.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.89% เมื่อเทียบกับปี 2564

          “ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใน ปี 2565 เติบโตเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากตลาดอสังหาฯ ในปี 2565 ได้รับอานิสงส์จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายอัตราการปล่อยสินเชื่อเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV) ในขณะเดียวกันเมื่อ ธปท. ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ทำให้ผู้ซื้อ ที่อยู่อาศัยเร่งตัดสินใจซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้มียอดการรับรู้รายได้สูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ประกอบกับประเทศไทยมีสัญญาณฟืนตัวของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ทำให้สามารถกระตุ้นกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2565 เติบโตสูงกว่า ปี 2564 ถึงแม้ราคาบ้านจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น” นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด กล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาข้อมูลจะพบเห็นว่า ตัวเลข อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio หรือ D/E ratio) ในภาพรวมของ 37 บริษัทอสังหาฯ อยู่ในระดับที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ นั่นหมายความว่า ผลงานในเรื่องของยอดขายที่ดีและ การเร่งโอนกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ส่งผลให้รับรู้รายได้ ที่มาก ทำให้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ได้ แต่ก็มีบางบริษัทอสังหาฯที่ระดับ D/E ratio สูงเกินกว่าที่ นักลงทุนจะยอมรับได้ระดับไม่เกิน 2 เท่า ซึ่งตัวเลข ที่สูงอาจทำให้ภาระต้นทุนในการระดมทุนเพิ่มสูงขึ้นจากความน่าเชื่อถือ เป็นต้น

          บ้านแพงขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5-10%

          สำหรับทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 นั้น นายประพันธ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นปีที่ธุรกิจอสังหาฯจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่ 5-8% ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมถึง ต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นประมาณ 5-6% ผนวกกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และ ราคาที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาประเมินที่ดินใหม่ ที่กรมธนารักษ์ จะประกาศใช้และมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ปรับขึ้นประมาณ 8-10% ขึ้นกับทำเล กระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

          โดยแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10% ขึ้นอยู่กับทำเล ในส่วนของโครงการที่เปิดตัวใหม่ แต่อย่างไรก็ตามจะยังไม่กระทบกับที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จพร้อมขาย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นต้นทุนเดิมของผู้ประกอบการ

          ส่วนการที่ ธปท.ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จะกระทบกับกำลังซื้อสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่ซื้อเป็นสัญญาเงินกู้หลังที่ 2 และที่อยู่อาศัยที่มีราคาเกิน 10 ล้านบาทที่เป็นสัญญากู้หลังแรก ที่จะต้องวางเงินดาวน์ตามสัดส่วนที่ ธปท.กำหนดที่ 10-20% ทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องมีเงินก้อนสำหรับผ่อนดาวน์ จากเดิมที่สามารถกู้ได้ 100% ไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์

          “การยกเลิกการต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV จะทำให้กำลังซื้อสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ 3 ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะกระทบกับตลาดที่เป็นกลุ่ม นักลงทุน แต่จะไม่กระทบกับกลุ่มที่ซื้อบ้านหลังแรก ที่ระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเมื่อยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV แล้ว บ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังสามารถกู้ได้ร้อยละ 100 ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของตลาดรวม”

          แสนสิริ เร่งเครื่องปี 66 ต่อ หลังทำกำไร

          สูงสุดในรอบ 38 ปี


          สำหรับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SIRI’ ที่ช่วงนี้ ทั้งผลประกอบการ และ ผู้บริหาร ร้อนแรงสุดๆ โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริฯ ซึ่งล่าสุด พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แต่งตั้งนั่งเป็นประธานที่ปรึกษา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยจะเข้ามาให้คำปรึกษานโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคพท.เป็นหลัก ได้กล่าวว่า  ปีที่ผ่านมานับเป็นอีกปีท่ามกลางความท้าทาย ที่แสนสิริผ่านมาได้อย่างแข็งแกร่งในรอบ 38 ปี ส่งผลให้แสนสิริสามารถสร้างยอดขายรวมได้ถึง 50,000 ล้านบาท โตขึ้นเกือบ 50% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่มีรายได้รวม 34,983 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 30,716 ล้านบาท รายได้หลักมาจากที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบและแนวสูงในสัดส่วน 67% : 33%

          แต่ที่เป็นไฮไลต์ คงเป็นเรื่องผลกำไรสุทธิที่โดดเด่น สูงถึง 4,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิฯ 2,017 ล้านบาท ถึง 112% นับว่าเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตด้านกำไรสูงที่สุดในอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 12.2% ของรายได้รวมโตขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 6.8%

          “ในปี 2566 แสนสิริยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจและเดินหน้าเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่ง โดยวางแผนเปิดตัว 52 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 75,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 30 โครงการ และคอนโดฯ 22 โครงการ ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 55,000 ล้านบาท เป้ารายได้รวม 40,000 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

          AP ดุดัน รุกหนักโครงการแนวราบ

          นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำอสังหาฯที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวสรุปผลการดำเนินงานประจำปี 65 ว่า สามารถสร้างรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดฯ (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 49,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4% ด้านกำไรสุทธิ 5,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.4% ที่สำคัญ สัดส่วนหนี้ สินสุทธิต่อทุนต่ำเพียง 0.58 เท่า

          โดยในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา สามารถสร้าง รายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดฯ(100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้จำนวน 11,822 ล้านบาท เติบโตขึ้น 22% และกำไรสุทธิเท่ากับ 1,154 ล้านบาท เติบโตขึ้น 16.1%



          สำหรับเป้าหมายในปี 2566 นั้น เป็นปีที่ เอพี ไทยแลนด์ จะมาพร้อมกับความดุดัน แบบไม่เกรงใจใคร โดยนายวิทการ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจภายใต้แผน 2023 AP INCLUSIVE GROWTH ที่สุดของปีกับการเติบโตร่วมกันว่า

          กลยุทธ์แรก DIVE DEEPER IN PROPERTY BUSINESS ทำงานแบบเจาะลึก เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อครองความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัย ด้วยแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาด จำนวน 58 โครงการ มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาท เน้นบ้านเดี่ยว 22 โครงการ มูลค่า 34,800 ล้านบาท ทาวน์โฮมจำนวน 27 โครงการ มูลค่า 26,400 ล้านบาท และคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่า 11,800 ล้านบาท และโครงการในต่างจังหวัด 5 โครงการ มูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่ง ส่งผลให้ทั้งปีเอพีจะมีโครงการพร้อมขายทั้ง กทม.และ ต่างจังหวัดมากกว่าถึง 192 โครงการ มูลค่ากว่า 165,600 ล้านบาท โดยตั้งเป้ายอดขาย 58,000 ล้านบาท เป้ารายได้รวม 100% JV ที่ 57,500 ล้านบาท

          กลยุทธ์ที่สอง HATCH NEW BUSINESS ต่อ ยอดความชำนาญในธุรกิจอสังหาฯ ด้วยการค้นหาช่องว่างตลาดใหม่ และ กลยุทธ์ PEOPLE & SOCIAL ร่วมขับเคลื่อนสังคมให้เติบโตไปร่วมกัน ด้วยการสานต่อความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ‘คน’

          พฤกษา ตั้งเปา 5 ปี ดันสินทรัพย์ทะลุแสน ลบ.

          บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ประกาศโรดแมปครั้งใหญ่ตามแผน 5 ปี ที่จะก้าวไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท ถือเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่วางวิชันของการพัฒนาธุรกิจและการเชื่อมต่อธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรของพฤกษาฯ

          โดย นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม PSH กล่าวว่า ภายในปี 2571 บริษัทจะมีมูลค่าสินทรัพย์สู่ตัวเลข 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ 68,000 ล้านบาท โดยที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขายจะยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท แต่อาจจะมีตัวเลขอยู่ระดับ 50,000-60,000 ล้านบาท โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาธุรกิจไปเน้นตลาดระดับบนมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่ให้มาร์จิ้นสูง

          ส่วนของธุรกิจโรงพยาบาล ภายใต้แบรนด์ “วิมุต” ธุรกิจที่เริ่มสร้างผลประกอบการคืนบริษัทแม่นั้น มีแผนขยายโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาแบบ Telemedicine ที่สามารถขยายการรักษาให้กับผู้ป่วยที่บ้านได้ ทำให้วิมุตสามารถย้ายฐานลูกค้าได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าขยายธุรกิจวิมุตให้ ไปถึง 100,000 เตียง ภายในปี 71 แต่ทั้งนี้ เราอาจจะมองตัวเลขระดับ 2 แสนเตียงได้

          สิงห์ เอสเตทฯเข้าสู่หมวดเก็บเกี่ยวรายได้

          นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการที่ดีในปี 65 เป็นผลมาจากการผลักดันรายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจของเรา ควบคู่การบริหารต้นทุนอย่างเข้มข้น ผลส่งให้รายได้ของบริษัทมากกว่า 12,530 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีกำไรสุทธิ 490 ล้านบาท โดยบันทึกกำไรสามไตรมาสติดต่อกัน จึงถือได้ว่าปี 2565 นี้ เป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวความสำเร็จของ สิงห์ เอสเตท

          ในด้านทิศทางธุรกิจปี 66 คาดว่ากลุ่มโรงแรมจะเติบโตโดดเด่นกว่าปี 2565 ทั้งจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน การบริหารพอร์ตอย่างมีประสิทธิภาพของ SHR ทั้งภาคการตลาดเชิงรุก การเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่และตลาดที่มีกำลังซื้อ คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้ของพอร์ตโรงแรมโดยรวมเติบโตได้ถึง 20% เสริมด้วยการเปิดดำเนินการของโรงแรม โซ/ มัลดีฟส์ (So/ Maldives) รีสอร์ตแห่งที่ 3 บนโครงการครอสโรดส์ มัลดีฟส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

          อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย พร้อมเดินหน้ารุก 5 โครงการบ้านแนวราบใหม่ รวมมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์สร้างบ้านคุณภาพ บนมาตรฐาน สิงห์ เอสเตท ซึ่งจะทยอยเปิดตัวในปี 2566 พร้อมรับ รายได้ภายในปี ช่วยผลักดันรายได้จากธุรกิจที่พักอาศัยให้เติบโตเกือบเท่าตัว

          อสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า จะเติบโตจากยอดรายรับเต็มปีของอาคาร S-OASIS อาคารสำนักงานเพื่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งช่วงปลายปี 2565 อาคาร S-OASIS มีผู้เช่าหลักเข้ามาจับจองพื้นที่แล้ว ส่งผลดีต่อการเพิ่มอัตราการปล่อยเช่าในปี 2566 นี้

          และนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน คาดการณ์กิจกรรมการโอนฯจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และความต้องการพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตฯที่เกี่ยวเนื่อง และหนุนด้วยการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า 2 แห่ง จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันผลกำไรของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: