กรมโยธาย้ำชัด ถนนผังเมือง 384 สายอีอีซี ดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่-พัฒนาเมืองใหม่

30 มี.ค. 2565 475 0

          กรมโยธาธิการและผังเมืองแจงผัง ใช้ประโยชน์ที่ดินรายอำเภอ 30 ผังในเขตอีอีซี วางโครงข่ายถนน 384 สายตามที่เอกชนในพื้นที่คัดค้าน ยันเป็นไปตามหลักสากล เพื่อการขนส่งสินค้าเดินทางท่องเที่ยว ดึงนักลงทุน -แรงงานเข้าพื้นที่รองรับชุมชนขยายพัฒนาเมืองใหม่

          กรณีภาคเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีออกมาระบุ ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ที่อยู่ระหว่างปรับจากผังเมือง อีอีซี เป็นผังเมืองรายอำเภอ ทั้ง 30 อำเภอใน 3 จังหวัด ประกอบด้วยชลบุรี, ระยองและฉะเชิงเทรา โดยมีรายละเอียดในข้อกำหนดไม่เอื้อต่อการพัฒนาเมือง อาจกระทบต่อการขยายตัวของชุมชนเมือง ตลาดที่อยู่อาศัย และเป็นอุปสรรคต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จากโดยเฉพาะการกำหนดการพัฒนา-ขยายเขตทางตามแนวผังเมือง จำนวน 384 สาย ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการ ในประเด็นการขีดคร่อมแนวถนนไว้ แต่ยังไร้แผนการพัฒนา อาจจะกระทบพื้นที่ชุมชน บ้านเรือน ที่ดินเปล่า และแผนพัฒนาอสังหาฯเป็นจำนวนมากแม้จะท้วงติงไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) แล้วก็ตาม

          ล่าสุด นายพรพจน์ เพ็ญพาส ธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกรมโยธาธิการชี้แจงกรณีภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี ระบุถึง ถนนตามผังเมืองดังกล่าวว่า แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง เป็นการดำเนินการตามวิธีการและมาตรฐานสากล ที่จะต้องมีการวางแผนระบบคมนาคมและขนส่งให้สอดรับและสนับสนุนกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซีตามแผนผังในทุกระบบ ระบบคมนาคมและขนส่งมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ระบบคมนาคมและขนส่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนพิจารณาในการลงทุน เนื่องจากมีผลต่อต้นทุนการผลิตในด้านการขนส่งและการกระจายสินค้า และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติด้านการจราจรเหมือนกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ถนนสายหลักและถนนสายรองไม่เพียงพอต่อปริมาณการจราจร เนื่องจากถนนซอยจากอาคารบ้านเรือนในหมู่บ้าน และสถานประกอบกิจการต่างๆ ต้องเชื่อมโยงการสัญจรและเดินทางเข้าออกพื้นที่ด้วยถนนสายหลักเพียงสายเดียว ตัวอย่างเช่น พื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิทในกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจร ปัญหามลพิษฝุ่นควันจากท่อไอเสีย และเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนและกำหนดพื้นที่ถนนโครงการให้เพียงพอในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี

          จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อรองรับการคมนาคม การขนส่ง และโลจิสติกส์ในทุกระบบ ให้สามารถรองรับความต้องการในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในพื้นที่ อีอีซี ในอนาคตได้อย่างเพียงพอ สะดวก รวดเร็ว ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ มีโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ ส่งผลให้พื้นที่อีอีซี มีเศรษฐกิจในชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาเป็นเมืองใหม่ และเกิดการกระจายการพัฒนาสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้นเพื่อรองรับรัศมีการให้บริการ ลดการกระจุกตัวของประชากรในเมืองใหญ่ นอกจากนี้โครงข่ายระบบถนนยังสามารถใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนกิจการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยใช้สายทางของถนนในระบบโครงข่ายคมนาคมและขนส่งในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ

          ทั้งนี้ การวางและจัดทำแผนผังระบบคมนาคมและขนส่งในผัง อีอีซี นอกจากจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการจราจรและขนส่งในพื้นที่ อีอีซี เพื่อการออกแบบวางผังและกำหนดแนวถนนโครงการให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากการพัฒนาตามแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตตามผังอีอีซี สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และเหมาะสมได้มาตรฐานตามหลักการทางด้านวิศวกรรมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออาคารและสิ่งปลูกสร้างของประชาชนให้กระทบน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชนในภาพรวมในพื้นที่มากที่สุด การกำหนดถนนโครงการในแผนผังระบบคมนาคมและขนส่งที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน และเพียงพอในพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ป้องกันปัญหาด้านการจราจรในอนาคต การกำหนดแนวถนนโครงการตามหลักวิศวกรรมยังก่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ช่วยลดอุบัติเหตุและลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำแนวถนนโครงการ ไปใช้ในการวางแผนพัฒนาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอและทั่วถึง สามารถรองรับการพัฒนาและการขยายตัวในอนาคต

          สำหรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมรูปแบบ Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่และศูนย์กลางการเงิน  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงทั้งระบบ ส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวที่มีแนวคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากร ด้านการศึกษา วิจัย และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการแข่งขันของประเทศให้มีความพร้อมขับเคลื่อนไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต

          แผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วยแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค (ครอบคลุม 8 ระบบ) ได้แก่ 1) แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ 2) แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง 3) แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม 4) แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ 5) แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย และ 6) มาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ ฯลฯซึ่งในการจัดทำแผนผังมีการวางแผนครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (โครงข่ายคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ฯลฯ) การบริหารจัดการเรื่องน้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อวางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ที่มา: