กบอ.เร่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3สนามบิน สางปมเริ่มนับสัญญา

22 ก.พ. 2565 891 0

         กบอ.เคาะตั้ง บริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบินให้ สกพอ.ถือหุ้น 100% ลุยดึงอุตสาหกรรมการบินอู่ตะเภาพื้นที่ 474 ไร่ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องสัญญากับ UTA เผย แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ยังไม่ได้ข้อสรุป สั่งหาข้อสรุปวันเริ่มนับหนึ่งสัมปทาน

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วานนี้ (21 ก.พ.) ว่า กบอ.เห็นชอบจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ที่มี สกพอ.ถือหุ้น 100% โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่คล่องตัวสามารถดึงการลงทุนของเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) การฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน

          รวมทั้งจะบริหารพื้นที่อุตสาหกรรมการบินในสนามบินอู่ตะเภาพื้นที่ 474 ไร่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่เป็นโครงการที่อยู่ในสัมปทานของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ที่ได้สิทธิในการพัฒนาและบริหารสนามบิน และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จะทำงานร่วมกับ UTA และหน่วยงานอื่นเพื่อให้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาสมบูรณ์ และช่วยให้ไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินได้สำเร็จในอนาคต

          “บริษัทนี้ สกพอ.ถือหุ้นเอง 100% ในระยะแรกจะใช้คนและงบประมาณจาก สกพอ. แต่ระยะต่อไปสามารถที่จะจ้างบุคลากรเฉพาะทาง รวมทั้งเจรจากับเอกชนได้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยรองนายกฯ ได้ย้ำถึงเรื่องการบริหารงานให้อีอีซีบริหารงานอย่างเป็นอิสระอย่าให้มีการแทรกแซงจากภายนอก” นายคณิศ กล่าว

          ทั้งนี้ กบอ.อนุมัติการจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปี แรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสนามบินชั้นนำใน สิงคโปร์ ดูไบและฮ่องกง ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี

          รวมทั้งจะสนับสนุนด้านการออก VISA และใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 หรือวีซ่าระยะยาว (LTR) สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก โดยสำนักงานอีอีซีจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้

          เคาะสิทธิประโยชน์โซนพิเศษ

          นอกจากนี้ การจัดสิทธิประโยชน์ที่มีความชัดเจนจะทำให้การพัฒนาพื้นที่ Special Economic Zone ในระยะที่ 1 ในพื้นที่ 1,400 ไร่ สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 5 ธุรกิจที่มีการ กำหนดไว้ ได้แก่ 1.โรงแรม ที่พักอาศัย ที่ประชุม ที่ทำงาน ที่จะเปิดรองรับให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

          2.ห้างสรรพสินค้า และ Duty Free ที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง 3.พื้นที่กิจกรรมสันทนาการแบบเบา เช่น ร้านอาหารที่มีบริการขายเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งจะมีร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ที่จะมาเปิดให้บริการ

          4.ศูนย์แสดงศิลปกรรม พิพิธภัณฑ์ การแสดงงานศิลปะและการซื้อขายงานศิลปะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 5.อาคารที่อยู่อาศัย คอนโด สำหรับนักธุรกิจ นักลงทุน พนักงานที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในพื้นที่

          สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาแล้ว คาดว่าจะออกประกาศจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ประมูลก่อสร้างโครงการได้ภายในอีก 1 เดือน จากนั้นอีก 4 เดือนจึงจะได้ผู้ชนะโครงการ

          เร่งแก้สัญญาไฮสปีดเทรน

          นอกจากนี้ กบอ.รับทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ ได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และเอกชนคู่สัญญากำลังดำเนินการอยู่ โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ

          1.กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงิน ของภาครัฐ

          2.การบรรเทาผลกระทบโควิด-19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมา 20,000 คนต่อวัน แต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน

          ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิเป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ ซึ่งภาครัฐไม่เสียประโยชน์และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการร่วมกัน

          “ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากคณะกรรมการกำกับสัญญาฯ แต่มีการรายงานแนวทางเบื้องต้นว่าภาครัฐไม่ต้องควักเงินจ่ายให้กับเอกชน แต่การเยียวยาที่จะเกิดขึ้นอาจพิจารณาเรื่องระยะเวลา เช่น การยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงค์ออกไป 5-6 งวด หรือขยายระยะเวลาการให้สัมปทานเดินรถแก่เอกชน เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องสุดวิสัย และการฟื้นตัวจากโควิด ทั้งเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลาอีกกว่า 15 เดือน และกว่าที่ท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 30 ล้านคน ต้องใช้เวลากว่า 27 เดือน ซึ่งผลกระทบแบบนี้ตามหลักการพีพีพีรัฐกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญากันก็ต้องหาทางออกร่วมกัน“นายคณิศ กล่าว

          3.การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เตรียมพื้นที่ส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือเกือบครบทั้งหมด 100% แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะดำเนินการให้เสร็จในเดือน พ.ค.2565

          แหล่งข่าวจากที่ประชุม กบอ.กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับการเริ่มต้นนับหนึ่งของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สอบถามว่าเมื่อ ร.ฟ.ท.ส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 จะเริ่มต้นสัญญาได้เลยหรือไม่ ในขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่าการเริ่มนับสัญญาอาจเริ่มเมื่อส่งมอบพื้นที่ครบ 100% และมีการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ซึ่ง กบอ.กำหนดให้หาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ที่มา: