กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% รับ จีดีพี ปีนี้ต่ำเป้า3.2%

04 ก.พ. 2564 633 0

          ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ซึ่งเป็นระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ

          ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุมกนง.ครั้งที่ 1 ของปี 2564 วานนี้ (3 ก.พ.) คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

          คณะกรรมการประเมินว่า ระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ แต่ได้แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ และการส่งออกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทย ยังเผชิญ ความเสี่ยงด้านต่ำ และความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำต่อเนื่อง

          ดังนั้น กนง.เห็นควรให้คงดอกเบี้ยไว้ ในการประชมครั้งนี้และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอย่างจำกัด เพื่อใช้จังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          กนง.มองว่าผลกระทบโควิดรอบใหม่ ยังไม่รุนแรงเท่าโควิดรอบแรก เพราะ การควบคุมการแพร่ระบาดไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบเท่ารอบแรก แต่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสต่ำกว่าประมาณการที่ประเมินไว้ก่อนหน้าที่ 3.2% ในปีนี้จากผลกระทบโควิดรอบใหม่”  อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับการกลับมา ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด รวมถึง แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและ ต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่เปราะบาง มากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมี แนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น  นอกจากนี้การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้น จะส่งผล ต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่การกระจายตัวของสภาพคล่อง ยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิต ที่เพิ่มขึ้น ตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือน ที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด ระลอกใหม่

          อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาท ถือว่าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค คณะกรรมการจึงให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและพิจารณา ความจำเป็นของการดำเนินมาตรการ ที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดัน การสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาด อัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

          “กนง.มองว่านโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง ควรเร่งกระจาย สภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบ ให้ตรงจุดและทันการณ์ เช่น การค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต พร้อมกับผลักดันการปรับโครงสร้างหน้า รวมถึงพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจาย สภาพคล่อง ขณะที่มาตรการทาง การคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดย ไม่ขาดช่วง”

          ส่วนการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อ การฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในระยะถัดไป เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือ เชิงนโยบายที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยกนง. จะพิจารณาใช้เครื่องมือเชิงนโยบาย ที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยใช้ ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

          ด้านจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. กล่าวว่า กรณีเกิดรัฐประหารใน เมียนมาล่าสุด  ธนาคารพาณิชย์ยังไม่เห็นผลกระทบเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยในเมียนมายังทำธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งธุรกรรมภายในประเทศและธุรกรรมระหว่างประเทศ

ที่มา: