กดดัน ธปท.ยอมลดเกณฑ์ LTV

08 มี.ค. 2567 338 0

            นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาธิการ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2567 “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2024” ซึ่งจัดโดย 3สมาคมใหญ่ของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ถึงการปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าการปรับปรุงในครั้งนี้เป็นการทำทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและในเรื่องอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสม โดยอัตราภาษีไม่ควรซ้ำเติมต่อประชาชนในภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอในปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่อนปรนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Loan-to-Ratio)หรือ LTV เพื่อช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย ธปท.ไม่ควรมองการผ่อนเกณฑ์ LTV ว่าจะทำให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น แต่ควรมองในแง่บวกด้วยว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

         ทั้งนี้ กระทรวงการคลังตระหนักถึงความสำคัญของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยออกมาประกอบด้วย 1.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม เพื่อซื้อเช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท 2.ลดภาษีที่ดินฯ 90%ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่เกิน 3 ปี 3.ยกเว้นภาษีที่ดินฯ สำหรับทรัพย์ส่วนกลาง สำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและกฎหมาย ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)4.ขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินฯ สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯในปีนี้ เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน 5.มาตรการลดค่าธรรมเนียม ลดค่าจดทะเบียนการโอน จาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ที่จดทะเบียนในปี 2567

         ส่วนมาตรการทางการเงิน อาทิ 1.โครงการบ้านล้านหลัง โดย ธอส.สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะกู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3%ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี 2.โครงการสินเชื่อ Happy Life วงเงินกู้ต่อราย ตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป กู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.98% ต่อปี.

 

 

ที่มา: