กกร.ชี้เศรษฐกิจครึ่งหลังเผชิญเสี่ยง ท่องเที่ยวหนุน-หวั่น ส่งออกชะลอ
กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญ ความเสี่ยงรอบด้าน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หวั่นกระทบการส่งออกครึ่งปีหลัง ลุ้นการท่องเที่ยวช่วยพยุงเศรษฐกิจ คงจีดีพีทั้งปี 2.5 -4.0% “กอบศักดิ์” ห่วงวิกฤติพลังงาน แนะรัฐบาลลดขนาดมาตรการ คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน เก็บกระสุนดูแล ราคาน้ำมันแพง จากยุโรปคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ราคาพลังงานที่ยังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ กกร.คงประมาณการขยายตัวจีดีพีในกรอบ 2.5-4.0% โดยการส่งออกขยายตัว 3-5% อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 3.5-5.0% โดยการท่องเที่ยวและการส่งออกไทยยังขยายตัว ซึ่งจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2565
“ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 6-8 ล้านคน”
นายสนั่น กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพสูง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีรายได้สูงเนื่องจาก ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย
ทั้งนี้ประเมินว่านักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียมีค่าใช้จ่ายต่อหัว 100,000 บาทต่อทริป จากนักท่องเที่ยวปกติมีค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อทริป ซึ่งหากว่าดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย 10 ล้านคนได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีสัญญาณดี เริ่มฟื้นตัวได้แล้ว 80% สูงกว่าที่คาดไว้ 70% ส่วนหนึ่งมาจากการขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ส่วนภาคการส่งออกไทยแม้ว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเศรษฐกิจโลกเผชิญ Headwind จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับอาหารขาดแคลน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การขาดแคลนสินค้าสำคัญใน Supply chain ภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลาง
รวมถึงกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจขยายตัวเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5% ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้ม ชะลอตัวลงและอาจกระทบการส่งออกไทยช่วงที่เหลือของปี โดยมีสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นเดือน เม.ย.2565 หดตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกัน ของปีก่อนหน้า แต่สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือน เม.ย. เติบโต 9.9% โดยการขนส่งและโลจิสติกส์ ระหว่างประเทศยังไปได้ แต่ยังประสบภาวะ ราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น
“ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น 33 บาทต่อลิตร ยังอยู่ในระดับที่รับได้ เพราะที่หารือกันไว้ จะต้องไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร หากเทียบเคียงกับ ประเทศในกลุ่มอาเซียนเราก็ยังดีกว่า และ ต้องเข้าใจทุกฝ่าย อย่างฝ่ายรัฐบาลก็พยายามหา มาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ ที่สำคัญที่สุด เราต้องช่วยกันประหยัดให้มากที่สุด เพื่อฟันฝ่า วิกฤตินี้ไปให้ได้”
แนะเร่งประกาศโรคประถิ่น
นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้เร็วที่สุด จากเดิมที่รัฐบาล จะประกาศวันที่ 1 ก.ค.2565 เนื่องจากเป็นผลทางจิตวิทยา หากประกาศเร็วที่สุด ประชาชนจะกล้าออกจากบ้าน มาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกลุ่มมีราย ระดับกลาง และระดับสูงอีกจำนวนมากที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการรับมือโรคโควิด-19 ของไทยทำได้ดี และไม่มีความรุนแรงของโรค
ส่วนวิกฤติอาหารโลกรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศระงับการส่งออกอาหาร ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งสงครามยูเครนและรัสเซีย ที่ยืดเยื้อทำให้ผลผลิตเกษตรโลกลดลง และหลายประเทศเริ่มเผชิญการขาดแคลนอาหาร และทำให้ 20 ประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออก อาหาร โดยเฉพาะกลุ่มข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืช
สำหรับไทยคาดว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เพราะความต้องการบริโภคอาหารน้อยกว่าผลผลิตในประเทศ อีกทั้งปี 2565 มีปริมาณสินค้าคงคลังสำหรับสินค้าอาหารสำคัญเทียบกับความต้องการ ในประเทศระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงอดีต ดังนั้นการที่หลายประเทศตัดสินใจระงับ ส่งออกจะเป็นโอกาสของสินค้าไทย
สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ ตั้งงบลงทุนน้อยเป็นเรื่องน่าเห็นใจ การชะลอการลงทุนลงมาอาจเป็นการเพลย์เซฟ เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบ หากโครงการใดที่ชะลอได้ ก็ชะลอไปก่อน เมื่อถึงโอกาสก็เดินหน้าต่อได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของ ต่างชาติที่จะเข้เมาลงทุน เช่น บริษัทด้านเทคโนโลยี ของสหรัฐ สนใจที่จะเข้ามาตั้งฐานเป็นสำนักงานการให้บริการด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้
“กอบศักดิ์” ห่วงวิกฤติน้ำมัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดยกลุ่ม"เวทีสภาที่สาม"ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปจากผลกระทบของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่นำไปสู่ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน จะเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนาน และ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคา พลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูง ต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี
ทั้งนี้ ล่าสุดการที่สหภาพยุโรปตัดสินใจลดนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียให้ได้ไม่น้อยกว่า 90% ในปีนี้ มีส่วนสำคัญให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเร็วมาอยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันสัดส่วน 10% ของโลก และเมื่อยุโรปยกเลิกค้าน้ำมันกับรัสเซียทำให้ซัพพลายน้ำมันหายไป 10% ถือว่ามากในภาวะที่ทุกประเทศต้องการน้ำมัน ช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูง
นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคว่ำบาตร รัสเซีย และประเทศเบรารุสยังส่งผลต่อราคาปุ๋ยเคมีเพราะ 2 ประเทศดังกล่าวเป็นผู้ผลิต ปุ๋ยยูเรียและโปรแตสสำคัญของโลก โดย รัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียถึง 14% ของปริมาณการค้าปุ๋ยชนิดนี้ทั้งหมดของโลก ขณะที่เบลารุสผลิตปุ๋ยโปรแตสถึง 41% ของปริมาณการค้าปุ๋ยชนิดนี้ในโลกซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือเรื่องของปุ๋ยราคาแพงระยะยาว
“วิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งราคาพลังงาน การขาดแคลนอาหาร ปุ๋ยราคาแพง ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ต่างประเทศสูง ประเทศที่ล้มไปแล้วคือศรีลังกา และกำลังจะมีปัญหาในประเทศอื่น ตามมา"นายกอบศักดิ์กล่าว
แนะดึงท่องเที่ยวเศรษฐกิจ
สำหรับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสโดยใช้จุดแข็งที่ประเทศไทยมีอยู่โดยเครื่องยนต์ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้จะเปลี่ยนไปจาก ปีก่อน โดยปีที่ผ่านใช้การส่งออกที่เติบโต 20% การท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการ เราเที่ยวด้วยกันที่สนับสนุนให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ และการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการคนละครึ่งทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ แต่ระยะต่อไปเครื่องยนต์เศรษฐกิจต้อง ปรับเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการดึงการ ท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาไทย การดึงดูดการลงทุนจากภายนอก และการลงทุนของภาครัฐ เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“โครงการคนละครึ่งที่เราเคยใช้ได้ผล ตอนนี้ต้องลดขนาดลงมา เพราะทำแต่ละครั้งนั้น ใช้เงินมาก ควรเอาเงินที่เหลือมาใช้ในการดูแลราคาพลังงานที่จะปรับเพิ่มขึ้นบางส่วนเพื่อให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อในการบริโภคอยู่ได้ ในช่วงที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้นความจำเป็น ก็น้อยลงเพราะในปีก่อนการส่งเสริมให้ คนเที่ยวในประเทศ ได้ผลดีแล้ว ในปีนี้ คนจะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้ยาก คนจำนวนหนึ่ง อาจที่จะต้องการไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องดึงนักท่องเที่ยว ต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมถึงดึงนักท่องเที่ยวที่จะมาพำนักระยะยาวในไทยที่ต้องการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยด้วย”
ลุ้นโอกาสส่งออกอาหาร
สำหรับภาคเกษตรของไทยจะได้ประโยชน์จากวิกฤติครั้งนี้ เพราะราคาสินค้าเกษตรราคาดีตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้ภาคเกษตรที่มีแรงงานถึง 20 ล้านคน ได้ประโยชน์ แต่การทำให้ภาคเกษตรได้ประโยชน์จากทิศทางราคาสินค้าภาครัฐ ต้องเข้ามาดูแลปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยเพราะถ้าในประเทศขาดแคลนต้องมีแผนพึ่งพาตัวเอง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน รวมถึงทบทวนแผนการทำเหมือนโปแตสในประเทศ
สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ไทยได้ประโยชน์ คือการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิต ออกจากยุโรป จีน และอินเดียมายังอาเซียน ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลควรเร่งโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อนุมัติแล้ว เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบิน อู่ตะเภา ซึ่งหากเร่งรัดก่อสร้างได้เร็วจะช่วยเศรษฐกิจฟื้นเร็ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ