Yokai Parade ขบวนภูตพิศวง ส่งตรงจากแดนอาทิตย์อุทัย

15 - 28 ก.ค. 2567

TCDC กรุงเทพฯ
196
วันและเวลา
15 - 28 ก.ค. 2567 / 10:00 - 20:00
ตำแหน่งที่ตั้ง
Location: TCDC กรุงเทพฯ
จัดโดย

การลงทะเบียนกิจกรรมบนเว็บไซต์เป็นไปเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ และนำส่งข้อมูลให้ผู้จัดกิจกรรมเมื่อต้องใช้งาน โปรดอ่านข้อมูลการลงทะเบียนกิจกรรมด้านบนส่วนรายละเอียดให้ครบถ้วน

รายละเอียดกิจกรรม

“คิด” Creative Thailand ขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักวัฒนธรรมโยไคให้มากยิ่งขึ้นในนิทรรศการใหม่ล่าสุดที่ห้องแกลเลอรีชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ ในชื่อว่า “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น” นิทรรศการใหม่ล่าสุดโดยความร่วมมือระหว่างเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA คัดสรรโดย ยุโมโตะ โคอิจิ (ผู้อำนวยการเกียรติคุณ แห่งพิพิธภัณฑ์มิโยชิ โมโนโนเกะ พิพิธภัณฑ์โยไคที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่ยุโมโตะ โคอิจิ) โดยภายในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 

01 โลกอันตระการตาของภาพม้วนโยไค
ภาพม้วนคือสิ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์โยไคออกมาเป็นรูปเป็นร่าง โดยก่อนยุคเอโดะ (1615-1868) มีการวาดโยไคลงบนภาพม้วนในลักษณะเรื่องราวเชิดชูวีรบุรุษ กล่าวคือ บทบาทของโยไคในภาพจะถูกผลักเป็นตัวประกอบของเรื่อง เป็นแค่ภูตผีที่ถูกวีรบุรุษกำราบ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ โยไคก็ถูกนำเสนอในฐานะตัวละครเอกของเรื่องเล่าได้ในที่สุด 

ภาพม้วนเฮียกคิยาเกียว เอมากิ (ขบวนราตรีร้อยอสูร) คือตัวอย่างของผลงานยุคบุกเบิกที่โยไคซึ่งเคยเป็นแค่ตัวประกอบ ได้มาปรากฏตัวในฐานะตัวละครหลัก นอกจากภาพม้วนเฮียกคิยาเกียว เอมากิแล้ว ก็ยังมีภาพม้วนโยไคอีกหลายประเภท ได้แก่ ภาพม้วนแนวขบขันที่วาดโยไคในลักษณะที่ดูคล้ายกับมนุษย์ บอกเล่าเรื่องราวการแต่งงานของโยไคจนถึงการให้กำเนิดบุตร ไปจนถึงภาพม้วนที่เหมือนกับสารานุกรมรูปภาพที่เอาไว้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับโยไคแต่ละตน 

02 โลกที่เปี่ยมด้วยสีสันสดใสของเหล่าโยไค
ยุคเอโดะเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ประกอบกับการเข้ามาถึงของเทคโนโลยีการพิมพ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีภาพพิมพ์แกะไม้ ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดโลกใหม่ให้กับเหล่าโยไค ที่ในอดีตถูกถ่ายทอดผ่านฝีพู่กัน

วิทยาการการพิมพ์ทำให้การผลิตผลงานทำได้หลายชิ้นในคราวเดียว ส่งผลให้ไม่ว่าใครก็สามารถหาซื้อภาพพิมพ์ได้ในราคาที่ถูกลง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับภาพพิมพ์นิชิกิเอะ (ภาพพิมพ์สอดสีชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นที่ใช้แม่พิมพ์ไม้) ที่ได้เข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้คนเป็นวงกว้าง อาจกล่าวได้ว่า การมาถึงของแม่พิมพ์ไม้และสีสันจากภาพพิมพ์สอดสี ได้ผลักดันให้โยไคก้าวเข้าสู่เวทีใหม่ไปอีกขั้น

03 โยไคและเกม
เมื่อความน่ากลัวในอดีตกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ความเป็นมิตร ภายหลังการเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายของภาพพิมพ์ ทำให้โยไคเข้าไปใกล้ชิดผู้คนมากยิ่งขึ้น ทำให้ความน่ากลัวลดถอย โยไคจึงได้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นโดยเฉพาะความบันเทิง 

ตัวอย่างเช่น โยไคกับภาพความน่ารักน่าเอ็นดูในเกมสุโกโรคุ (บอร์ดเกมคล้ายบันไดงู) ไพ่คารุตะ และโอโมจะเอะ (ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะสำหรับเด็ก) ของเล่นเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ทัศนคติของผู้คนที่มีต่อเจ้าโยไคได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง

04 โยไคที่สืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน
จากยุคเอโดะก้าวเข้าสู่ยุคเมจิ (1868-1912) ประเทศญี่ปุ่นเริ่มรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา ทำให้โยไคถูกกล่าวถึงในฐานะองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างของความรู้ที่เป็นระบบถูกสถาปนาผ่านบุคคลสองท่าน คนแรกคือนักพุทธปรัชญานามว่า อิโนะอุเอะ เอ็นเรียว เขาได้อธิบายปรากฏการณ์โยไคไว้ในเชิงวิทยาศาตร์ และได้ให้กำเนิด “โยไคศึกษา” ซึ่งเป็นการหักล้างความเชื่ออันงมงายที่มีต่อโยไคทิ้งไป และท่านที่สองก็คือ นักคติชนวิทยา ยานางิตะ คุนิโอะ ผู้ศึกษาโยไคจากการสำรวจและวิจัยความคิดของคนญี่ปุ่น รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติซึ่งอยู่เบื้องหลังการกำเนิดโยไค 

การศึกษาโยไคยังคงดำรงมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในขณะเดียวกัน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโยไคก็ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น กลายเป็นสินค้าราคาถูกหรือของแถมในร้านขนม ไม่เพียงแค่นั้น โยไคยังได้ถูกเผยแพร่ไปยังต่างประเทศอีกด้วย ตัวอย่างที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตามาก็คือ สิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดที่ปรากฏในภาพยนตร์จากสตูดิโอจิบลิ หลายตัวได้รับแรงบันดาลใจมาจากคติความเชื่อของเจ้าโยไค

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ภูตผีญี่ปุ่นกลายเป็นตำนานที่มีความสนุกสนานได้?
เรื่องผีและวิญญาณเป็นความเชื่อที่เกิดจากจินตนาการของคนในชาติต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ไม่เพียงแค่คนที่ต้องปรับตัว ขบวนพาเหรดของเหล่าโยไคในงานกระซิบบอกเราว่า พวกเราก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน

โยไคคือผลลัพธ์จากจินตนาการของคนญี่ปุ่น และจินตนาการเหล่านั้นก็สะท้อนคุณค่าหลักที่คนคนนั้นยึดถือ รวมถึงกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จะทำอย่างไรให้มูลค่ายังคงเพิ่มขึ้นและต่อยอดไปได้อีกอย่างไม่รู้จบ

นิทรรศการโยไคสัญจรครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการพาทุกท่านเข้ามาชมวิวัฒนาการของเหล่าโยไคและที่สำคัญคือ การสร้างมูลค่าให้กับสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ ตั้งแต่การปรากฏกายครั้งแรกอย่างเป็นทางการในภาพม้วน เปลี่ยนผันจากความน่ากลัวมาใกล้ชิดผู้คนด้วยความน่ารัก สู่การส่งออกผ่านสื่อสมัยใหม่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบอร์ดเกม ของที่ระลึก หนังสือการ์ตูน หรือรวมไปถึงภาพยนตร์ 

แผนที่

TCDC กรุงเทพฯ

กิจกรรมเด่น

มหกรรมการเงินกรุงเทพส่งท้ายปี ครั้งที่ 7 จัดโดย วารสารการเงินธนาคาร

19 - 22 ธ.ค. 2567
10:00 - 20:00

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

205

ค้นหากิจกรรม