TOAคงเป้ารายได้ปีนี้โต10% ทยอยขึ้นราคาสินค้าอีก 3-10% ช่วง Q3/64
TOA คงเป้ารายได้ปีนี้โต 10% จากปีก่อนทำได้ 1.62 หมื่นล้าน เตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า 3-10% ครอบคลุม 80% ของสินค้าในพอร์ต เริ่มเห็นผลชัดในไตรมาส 3 นี้ เผยโควิด-19 ไม่กระทบมาก แม้ต้องปิดร้านไปกว่า 10 สาขา เพราะหันมารุกตลาดออนไลน์มากขึ้น
นายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปี 2563 ที่มีรายได้ 16,296 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนจะปรับขึ้นราคาสินค้าประมาณ 3-10% โดยจะปรับขึ้นสินค้าราว 80% ของสินค้าทั้งหมดของ TOA เนื่องจากราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยบริษัทฯจะทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าตั้งแต่เดือนนี้ และจะเริ่มเห็นผลการปรับที่ชัดเจนในไตรมาส 3/2564 (ก.ค.-ก.ย. 64)
ขณะเดียวกันมั่นใจว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2564 (เม.ย.-มิ.ย. 64) จะดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่จะดีกว่าไตรมาส 1/2564 (ม.ค.-มี.ค. 64) หรือไม่นั้น คงต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อน ซึ่งเบื้องต้นถือว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากนัก แม้ร้านค้าของบริษัทฯ จะต้องปิดบริการไปกว่า 10 สาขา รวมทั้งร้านค้าที่เป็นลูกค้าของบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดด้วย เนื่องจากบริษัทฯ หันมารุกตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ขณะนี้ยังคงทรงตัว แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงตลาดในประเทศเวียดนามที่เกิดการติดเชื้อโควิด-19 รุกลามมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านงบลงทุนในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 400-500 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นำมาลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการและการดำเนินงานในบริษัท รวมทั้งลงทุนเพื่อเตรียมรองรับการขยายกิจการในอนาคต ส่วนกระแสเงินของบริษัทฯ ขณะนี้อยู่ในระดับที่ดีมาก และเงินที่ระดมทุนได้จากการเข้าซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ยังคงมีอยู่ จึงยังไม่มีแนวคิดการออกหุ้นกู้หรือระดมทุนเพิ่มแต่อย่างใด
นายจตุภัทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2564 ในช่วงที่เหลือเชื่อว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2563 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลเริ่มทยอยฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ขณะภาคการเกษตรก็จะดีขึ้นและมีกำลังซื้อมากขึ้นเช่นกันเนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนดีไม่แห้งแล้ง แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีการชะลอตัวเรื่องการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพราะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปสนใจที่อยู่อาศัยแบบบ้านมากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัวปลอดภัยจากการติดเชื้อมากกว่า
Reference: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น