KKPเร่งปล่อยกู้อสังหาฯ ขยับเป้าสินเชื่อโตกว่า7%

08 Sep 2020 629 0

          แบงก์เกียรตินาคินภัทร (KKP) ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่ออสังหาฯ จาก 4% เป็น 7% จากมาตรการพักชำระหนี้ของธปท. ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อเดิมยังอยู่ในระดับเดิม ขณะที่สินเชื่อใหม่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น รับอานิสงส์ผู้ประกอบการหันมาใช้เงินกู้ธนาคารแทนการออกตราสารหนี้มากขึ้น

          นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จากเดิม 4% เป็น 7% ส่วนหนึ่งเกิดจากพอร์ตสินเชื่อเดิมยังอยู่ในระดับเดิมเนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม สินเชื่อใหม่ก็มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาใช้เงินกู้ธนาคารมากขึ้น หลังจากตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบจากการเทขายของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนในการออกตราสารหนี้สูงขึ้น

          แม้ว่าความต้องการสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น แต่ธนาคารยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากโควิด-19 โดยการปล่อยสินเชื่อใหม่ธนาคารจะเน้นโครงการแนวราบเป็นหลัก ปัจจุบันสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อแนวราบคิดเป็น 90% ของสินเชื่อปล่อยใหม่ ขณะที่โครงการแนวราบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-70% ของพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด เนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมอยู่ในภาวะล้นตลาด (โอเวอร์ซัพพลาย) ในบางพื้นที่

          “เราเห็นว่ามีโอเวอร์ซัพพลายของตลาดคอนโดฯ ในบางโลเคชั่น ทำให้โครงการแนวสูงมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงเน้นปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ โครงการแนวราบเป็นหลัก ขณะเดียวกันดีเวลลอปเปอร์จะเน้นขายโครงการคอนโดเก่ามากกว่าลงทุนใหม่ เพื่อเก็บเงินสดไว้ในมือให้ได้มากที่สุด” นายสำมิตร กล่าว

          นายสำมิตร กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ผ่อนผันเงื่อนไขหนี้สินต่อทุนให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้าและให้โครงการที่มีศักยภาพดำเนินการต่อได้ โดยธนาคารเพิ่มสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้กับบางโครงการถึง 2.5 เท่า จากปกติเฉลี่ยที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งจะพิจารณาให้เป็นรายโครงการ

          ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  โดยจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการและความสามารถในการชำระหนี้คืนของลูกค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ จะเน้นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลานานมากกว่าผู้ประกอบการหน้าใหม่

Reference: