BEMใกล้วินสีส้ม มูลค่าขึ้น-คนแน่น 

08 Sep 2022 596 0

 รฟม.ประกาศ BEM-ITD ผ่านเกณฑ์ซอง 2 ข้อเสนอเทคนิครถไฟฟ้า สายสีส้ม เหลือด่านสุดท้ายเปิดซองราคาคาดไม่เกิน 1 เดือน เซ็นร่วมทุนปีนี้ โบรก ประสานเสียงเทใจ BEM เต็งใกล้ชนะ 80% เล็งอัพเป้าขึ้น 1.5-1.7 บาท มองเปิด ศูนย์สิริกิติ์ สายสีเหลือง-ชมพู ดันผู้โดยสารใต้ดินอีกเป้าเดิมสูง 10.50 บาท

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากได้รับซองเอกสารข้อเสนอใน วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย คือ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ ITD Group ทั้งนี้รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ตรวจสอบและ ประเมินข้อเสนอ ซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ปรากฏว่า BEM และ ITD Group ผ่านเกณฑ์ทั้งคู่ โดยขั้นตอนต่อไป รฟม.จะดำเนินการเปิดซองข้อเสนอ ที่ 3 หรือ ข้อเสนอด้านราคาในเวลาต่อไป เพื่อที่จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนได้ภายในปีนี้

          โอกาส BEM ชนะ 80%

          นายนฤดม มุจจลินทร์กูล ผู้อำนวยการ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) ระบุกับ “ทันหุ้น” ว่า ความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีส้มใกล้ได้ผู้ชนะแล้ว ซึ่งไทม์ไลน์หลังจากเปิดซอง 2 แล้ว น่าจะใช้ เวลาอีกไม่เกิน 1 เดือนในการเปิดซองข้อเสนอทาง ด้านราคาก็จะได้ผู้ชนะ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์ ก็ต้องมาวัดกันในด้านราคา โดยมองว่าในเชิงการ บริหารจัดการเดินรถ BEM ยังคงได้เปรียบเนื่องจาก มีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้าใต้ดินในไทย ประกอบกับ มี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็น กลุ่มเดียวกัน ทำให้การเสนอราคาสามารถแข่งขันได้มากกว่า ITD Group ซึ่งมีพาร์ตเนอร์คือ Incheon Transit Corporation บริษัทเกาหลีใต้ ที่การดำเนินการบริการการเดินรถนั้นยังเป็นเส้นทางที่สั้นกว่าและอยู่ในต่างประเทศ

          โดยประเมินว่าในการก่อสร้างต่าง BEM น่าจะขอรับเงินจาก รฟม. น้อยกว่ามาก เนื่องจากสามารถที่จะหวังจำนวนผู้โดยสารจากสายสีส้ม ซึ่งเป็น สายหลักตะวันออกไปตะวันตก มาเพิ่มผู้โดยสารในส่วนสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสายหลักล้อมรอบจุดสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้จุดซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสาย สีส้ม ก็สามารถขยายมาใช้ในพื้นที่ใกล้สายสีน้ำเงินที่อยู่ตรงศูนย์วัฒนธรรมได้ ทำให้การลงทุนมีต้นทุนที่ถูกกว่า

          มองว่า ณ ขณะนี้โอกาสที่ BEM จะถูก คัดเลือกเป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มราว 80% ซึ่งในเชิงการเพิ่มมูลค่านั้นก็จะต้องดูว่า BEM จะขอส่วนลดจาก รฟม. ได้มากน้อยแค่ไหน จากที่ดู คร่าวๆ ประเมินว่าการได้สายสีส้มน่าจะทำให้มูลค่าเพิ่มได้อีก 1.5-1.7 บาท จากราคาเหมาะสมในปัจจุบันที่ 9.90 บาท

          มีประเด็นหนุนผู้โดยสาร

          นายนฤดม กล่าวด้วยว่า ในเชิงพื้นฐานของ BEM นั้นยังดูโดดเด่นอย่างมากจากการที่กลุ่ม ผู้โดยสารฟื้นตัวจากการเปิดเมือง ขณะที่การเปิดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะเร่งให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเร่งตัวมากขึ้น จากที่กลับมาในช่วงไตรมาส 2 ที่ 60% เทียบกับช่วงก่อนโควิด ยังมีโอกาสเติบโตได้มาก โดยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเริ่มทำรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ในปีหน้ายังจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่จะส่งต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ ทางด่วนก็กลับมาแล้ว 86% จึงแนะนำซื้อให้เห็นหุ้นเด่นในกลุ่มรถไฟฟ้า

          เป้า 10.50 บาทไม่รวมชนะสีส้ม

          ด้านนายปฏิภาค นวาวัตน์ ผู้อำนวยการสายงาน วิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ทันหุ้น” ว่าการที่ BEM และ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติด้านเทคนิคนั้นเป็นเรื่องที่ ประเมินไว้อยู่แล้ว เนื่องจากทั้งคู่มีประสบการณ์ใต้ดิน แต่ยังคงมั่นใจว่า BEM จะเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ แม้ว่า ITD จะจับมือกับกลุ่ม Incheon Transit Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเกาหลีก็ตาม แต่มองว่า การเดินรถไฟสายสีส้มในไทย BEM ย่อมได้เปรียบทั้งทางด้านประสบการณ์และการให้ CK ก่อสร้าง ซึ่งมองว่าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงเชื่อว่า BEM จะเป็น ฝ่ายคว้างานครั้งนี้ ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มอีก 1 บาท ขณะที่ จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ประเมินว่าจะแตะ 3 แสนรายได้ในปีนี้ เป้าปัจจุบันที่ 10.50 บาท

Reference: