BEM ลุ้น Q3 โตสนั่น 575% โชว์กำไรสุทธิ 731 ล้าน 

12 Oct 2022 611 2

         BEM ลุ้นไตรมาส 3/65 เบ่งกำไรสุทธิ 731 ล้านบาท โตกระฉูด 575% จากปีก่อน หลังคาดจะมีรายได้ 3,600 ล้านบาท เติบโต 69% จากปีก่อน เหตุผู้โดยสาร MRT ฟื้นแตะ 3.13 แสนเที่ยว/วัน โต 292% และยอดผู้ใช้ทางด่วนฟื้น 1.07 ล้านเที่ยว/วัน โต 56% โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” อัพราคาเป้าหมายใหม่ 11.40 บาท

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2565 ออกมาดีมาก โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น  BEM ปรับมูลค่าพื้นฐานใหม่ขึ้นเป็น 11.40 บาท จากเดิม 9.90 บาท หลังจากรวมมูลค่าโครงการ MRT สายสีส้มเข้ามาร่วมคำนวณ และคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/2565 สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส ได้แรงหนุนจากที่ทำงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ยกเลิกนโยบายทำงานจากบ้าน การกลับมาเปิดสถานศึกษา และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น

         ขณะที่ราคาหุ้นของ BEM ปรับตัวลดลง 7% จากยอดสูงของปี 2565 ในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2565 หลังจากมีการขายทำกำไรบนประเด็นการชนะประมูลสายสีส้ม ถือเป็นโอกาสในการเข้าสะสม เพราะคาดว่าความกังวลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยจ่าย จากตัวโครงการสายสีส้ม และสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะไม่กระทบกำไรในปี 2566-2568 มากนัก

         สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 ของ BEM คาดว่าจะมีรายได้แตะ 3,600 ล้านบาท เติบโต 69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และเติบโต 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันในระบบ MRT ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งเป็น 3.13 แสนเที่ยว เติบโต 292% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และเติบโต 36% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565  ขณะที่การจราจรบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 1.07 ล้านเที่ยวต่อวัน เติบโต 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และเติบโต 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565

         โดยคาดว่าในไตรมาส 3/2565 ทาง BEM จะมีกำไรสุทธิ 731 ล้านบาท เติบโต 15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 634 ล้านบาท และเติบโต 575% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) แตะจุดสูงรอบ 3 ไตรมาสที่ระดับ 42% เนื่องจากอัตราทดการดำเนินงาน (operating leverage) ระดับสูง ที่ช่วยรองรับผลกระทบจากส่วนแบ่งรายได้ MRT ที่สูงขึ้นเป็น 15% จาก 5% ตามสัญญาที่ทำกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีผลบังคับใช้ เดือน ก.ค. 2565

         รวมทั้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันในระบบ MRT จะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4/2565 สู่ระดับราว 3.60 แสนเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่เห็นครั้งสุดท้ายเมื่อ เดือน ก.พ. 2563 แต่การกลับไปสู่ระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.13 แสนเที่ยวในเดือน พ.ย. 2562 คาดอาจจะต้องรอถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้ารายเดือนแตะ 2 ล้านราย (ราว 1.4 ล้านรายในเดือน ก.ย. 2565) ดังนั้นประเมินภาพรวมทั้งปี 2565 จะมีรายได้รวม 14,198  ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,279 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้รวม 10,727 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,010 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 ประเมินว่าจะมีรายได้รวม 16,815 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,403 ล้านบาท

         นอกจากนี้คาดว่าต้นทุนหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ MRT สายสีส้ม จะสร้างผลเชิงลบ (downside) ต่อกำไรไม่มากนัก โดยประเมิน downside อยู่ที่  1.8% ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 สำหรับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยแท้จริงทุก ๆ 10 bps โดยคาดว่า BEM จะเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มภายในสิ้นปี 2565 หลังจากทำการทบทวนคำขอสำหรับข้อเสนอ (REP) และเงื่อนไขภายใต้สัญญาการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 คาดว่าสายสีส้มตะวันออกจะเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือน ต.ค. 2568 ส่วนฝั่งตะวันตกคาดว่าจะให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2570 พร้อมประเมินว่าโครงการจะช่วยสร้างมูลค่าส่วนเพิ่มขึ้น 1.50 บาท ซึ่งสมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารจะแตะ 3.50 แสนเที่ยวภายในปี 2571 หรือคิดเป็น 70% ของระดับที่ดีของสายสีน้ำเงิน

         ก่อนหน้านี้ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวไว้ว่า  แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้รวม 6,803.45 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 970.21 ล้านบาท เนื่องจากการเดินทาง หรือการใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

         โดยปริมาณผู้ใช้ทางด่วนฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างเร็ว ปัจจุบันมีผู้ใช้ทางเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านเที่ยวต่อวัน หรือคิดเป็น 90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 1.2 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2565 น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ 1.2 ล้านเที่ยวต่อวัน ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 320,000 เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 500,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งภายในสิ้นปี 2565 น่าจะกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติที่ 450,000 เที่ยวต่อวัน

         ดังนั้น บริษัทมั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2565 จะมีรายได้รวมกลับมาใกล้เคียงก่อนช่วงเกิดโควิด-19 หรือราวระดับ 15,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 มีรายได้รวม 11,481.59 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1,010.10 ล้านบาท จากปัจจัยหนุนข้างต้น ถือเป็นการฟื้นตัวนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เกิดโควิด-19 ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปกว่า 60% แต่ก็ได้ยืนหยัดดำเนินธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤตมาอย่างเต็มที่

         ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานของปี 2566 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ชัดเจนแบบ V-Shape โดยรายได้รวมจะมากกว่าระดับ 17,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงกว่าปี 2565 เกินระดับ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมทั้งหมดจะเป็นปกติ ช่วยหนุนปริมาณผู้ใช้ทางด่วนสูงขึ้น และหนุนปริมาณผู้โดยสารกลับมาเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 500,000 เที่ยวต่อวัน ตามการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินครบทั้งเส้นทาง และมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะเปิดตัวตลอดเส้นทาง ทั้งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และโครงการ One Bangkok รวมถึง Singha Estate และ Samyan Mitrtown ที่สามารถบริการได้เต็มที่

         นอกจากนี้จะมีการทยอยเปิดรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งจะมีจุดตัดเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งช่วยหนุนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และน่าจะช่วยให้รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินสามารถคืนทุนได้ ด้วยปริมาณผู้โดยสารที่ 500,000 เที่ยวต่อวัน

Reference: