BAM เดินหน้าซื้อหนี้บริหาร เป้ายอดเก็บเงินปีนี้ 2 หมื่นล.

06 Mar 2024 302 0

 

         

          BAM เผยผลเรียกเก็บ ช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1/2567 แตะ 3 พันล้านบาทแล้ว มั่นใจทั้งปีชนเป้า ที่ 2 หมื่นล้านบาท ย้ำเร่งปรับปรุงกระบวนการประเมินมูลค่าทรัพย์เพื่อลดต้นทุนระยะยาว ย้ำเป้าซื้อหนี้รวมมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทเติมพอร์ต แย้มเดินหน้าเจรจา JV ทั้งกับสถาบันการเงิน และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้ง AMC

          นายวีรเวช ศิริชาติไชย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสนับสนุนองค์กร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า เบื้องต้นผลเรียกเก็บเงินสดช่วง 2 เดือนแรกของงวดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ใกล้เคียงมีผลเรียกเก็บรวมงวดไตรมาส 1/2566 ที่ทำได้ 3,230 ล้านบาท (YoY) แล้ว โดยช่วงที่เหลือ 1 เดือนจะพยายามเร่งผลเรียกเก็บให้สูงขึ้น

           เป้ายอดเก็บ 2 หมื่นล้าน

           สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานปี 2567 บริษัทตั้งเป้าผลเรียกเก็บเงินสดทั้งปี 2567 ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นผลเรียกเก็บเงินสดจากธุรกิจบริหารจัดการหนี้เสีย (NPL) ที่ 1 หมื่นล้านบาท และผลเรียกเก็บเงินสดจากธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์รอขาย (NPA) อีก 1 หมื่นล้านบาท

           ”ความท้าทายของการดำเนินงานในปีนี้ คือ การจัดเก็บและการตามลูกหนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี การส่งออกที่ผันผวน การบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้กระทบรายได้ และความ สามารถในการชำระหนี้ ซึ่งทำให้บริษัทอาจจะเก็บหนี้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เตรียมแผนช่วยลูกหนี้ในการให้คำปรึกษา ประกอบกับการเจรจาปรับโครงสร้าง และการประนอมหนี้ โดยในปีนี้จะประนอมหนี้แบบยืดหยุ่นเพื่อให้ลูกหนี้ร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด”

           โดยคงกลยุทธ์เชิงรุก อาทิ การเร่งจัดเก็บ Clean Loan ทั้งการบริหารจัดการเอง และการจ้างบริษัทบริหารจัดการเพื่อลดเวลาการติดตามทวงถาม การขยายธุรกิจ (Business Expansion) รวมถึงการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium)

            เดินแผนจัดตั้ง AMC

           ซึ่งในส่วนของกิจการค้าร่วม ขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย และสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล หลังธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแนวทางการ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SF Is) ของรัฐบาล

          เบื้องต้นรูปแบบการร่วมทุนจะถือหุ้น 5050 เพื่อให้การบริหารไม่ถูกครอบงำจาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถร่วมกันลงทุนได้ โดยไม่กระทบกับงบการเงินของ BAM และพันธมิตร รวมถึงการพิจารณาร่วมประมูลทรัพย์เข้ามาบริหารจัดการทั้งทรัพย์ที่มีหลักประกัน และทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกันอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสูด

         พร้อมกันนี้ บริษัทจะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้ง ลดต้นทุนการบวนการประเมินราคาทรัพย์, ลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีทั้งการยึดทรัพย์ และการบังคับชำระหนี้ผ่านกรมบังคับคดี รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ-คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

       ขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าซื้อทรัพย์ เข้ามาบริหารจัดการมูลค่าทรัพย์รวมทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท โดยจะบริหารจัดการงบประมาณการซื้อทรัพย์ให้ยืดหยุ่นในกรอบ 9 พันล้านบาท-1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการซื้อทรัพย์ดังกล่าว โดย ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมี NPLs อยู่ที่ 4.73 แสนล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 6.98 หมื่นล้านบาท

        แนะ “ซื้อ” เป้า 12 บาท

        บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุ ในบทวิเคราะห์ คาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดีขึ้นในปี 2567 จะเป็นปัจจัยหนุนการเก็บหนี้ของ BAM ให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน BAM ก็จะยังคงซื้อทรัพย์เข้ามาเติมพอร์ตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นก้าวแรกอย่างเป็นทางการสำหรับ BAM ในการร่วมมือร่วมทุนกับ SFI ที่รอคอยมายาวนาน

       โดย ธนาคารออมสิน (GSB) เปิดเผย ว่าได้ดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลง ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว จึงอาจใช้เวลา ไม่นานในการเปิดเผยความร่วมมือร่วมทุน ที่คาดหวัง เบื้องต้นคาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2567 ของ BAM ที่ 3,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ทำได้ 1,506 ล้านบาท (YoY) จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมที่ 12 บาท

 

Reference: