4 แบงก์รัฐ ขนทัพสินเชื่อ ให้กู้ผู้ประกอบการ อีอีซี
ครอบคลุมกลุ่มรายใหญ่ รายย่อย 1.7 แสนราย
อีอีซีจับมือ 4 แบงก์รัฐ เติมสภาพคล่องผู้ประกอบการในพื้นที่ ชี้ผลกระทบโควิด-19 ทำให้เอสเอ็มอีและรายย่อยขาดสภาพคล่องหนัก คาดมี ผู้ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนี้ราว 1.7 แสนราย
วานนี้ (23 ธ.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีลงนามความ ร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินของ 4 สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) และ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อผู้ประกอบการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
”ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญ เพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อผู้ประกอบการ ในพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีและรายย่อย เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ”
นายอาคม กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับในพื้นที่อีอีซี ทั้งในเรื่องสินเชื่อรูปแบบพิเศษที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละกลุ่ม สินเชื่อเพื่อยกระดับเกษตรกรไปสู่การทำธุรกิจการเกษตร และเข้าถึงบริการประกันภัยในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม
ธนาคารกรุงไทยจะให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ เช่น สินเชื่อ SME EEC 4.0 ให้วงเงินกู้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน หรือสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน 2.สินเชื่อSME Robotics and Automation เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ วงเงินสูงสุด 80% ของเงินลงทุน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี
ธ.ก.ส. จะมีมาตรการสินเชื่อพิเศษประกอบด้วย1.สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินตามความจำเป็นในการดำเนินงาน อัตราดอกเบี้ย 0.01%ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี และปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยปกติ ระยะเวลาชำระคืน 15-20 ปี เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ
2.สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร กรณีใช้หลักทรัพย์ให้กู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนกรณีใช้บุคคลค้ำประกัน ให้กู้ไม่เกิน 300,000บาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลา10ปี เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ และ 3.สินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 4%ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี เพื่อส่งเสริมเกษตรกร และประชาชน ทั่วไปนำนวัตกรรม เทคโนโลยีและ ภูมิปัญญา มาใช้ในกระบวนการผลิตในรูปแบบ Smart Farmer
เอสเอ็มอีแบงก์จะออกสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิค-19 วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2%ต่อปีใน 2 ปีแรก โดย 6 เดือนแรกรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทน มีระยะเวลาชำระคืน 10 ปี นอกจากนี้จะมี สินเชื่อ SME เพื่อรีไฟแนนซ์ ลงทุนปรับปรุง ขยายธุรกิจ และเสริมสภาพคล่อง วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.5-6% ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน10ปี ปลอดชำระเงินต้น 18 เดือน
สำหรับบริษัททิพยประกันภัยได้สร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัย “TIP EEC4.0” ได้แก่ 1.การประกันสำหรับพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้า เอสเอ็มอี สำหรับความเสียหายอุบัติภัยสำหรับรถเข็น ขายสินค้า ร้านค้า และทรัพย์สินต่างๆ 2.Insurance Protection for Smart Factory 4.0 คุ้มครองโรงงานที่มีการปรับไลน์การผลิต จากแบบเก่าเป็นระบบ Automation และ IoT เพื่อใช้ประโยชน์จาก 5จี ซึ่งทำงานร่วมกับระบบคลาวด์โดยคุ้มครองการสูญเสียรายได้จากการ ถูกแฮกข้อมูล จนทำให้ดำเนินการผลิตไม่ได้ ในวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า โครงการอีอีซียังสามารถเดินหน้า ไปได้ แต่ในระยะที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะเอสเอ็สอีและผู้ค้ารายย่อย ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างมาก ดังนั้นทางอีอีซีจึงประสานความร่วมมือจากแบงก์รัฐให้เข้าไปสนับสนุนแหล่งทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 1.7 แสนราย เป็นระดับไมโครประมาณ 1.35 แสนราย รายเล็ก 3.4 หมื่นราย รายกลาง 3.8 พันราย และ รายใหญ่ 1.5 พันราย
”ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เราขอความร่วมมือ จากแบงก์รัฐเพิ่มเติม โดยในครั้งแรกมีแบงก์รัฐเข้าร่วม 3 ราย ได้ปล่อยสินเชื่อในระยะเดือนกว่าๆ ไปประมาณ 9 พันครัวเรือน เป็นเงินประมาณ 3 พันล้านบาท”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ