4ปมปรับเกณฑ์ อัตราดอกเบี้ยใหม่ เพื่อ ลูกหนี้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันสืบเนื่องมาจากมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานกว่า 95 ปี ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุไว้ว่า การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยในกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ จะช่วยลดภาระของลูกหนี้จากการชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินสมควร โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังเป็นการแก้ปัญหาที่เจ้าหนี้จำนวนหนึ่งประวิงเวลาการฟ้องคดี โดยมุ่งหวังที่จะหากำไรจากอัตราดอกเบี้ยในกฎหมายที่มีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ การกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้เจ้าหนี้อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น จะมีผลให้ลูกหนี้ได้รับประโยชน์จากภาระดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระที่ลดลงและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดให้สามารถชำระหนี้ได้ ช่วยลดโอกาสในการเกิดหนี้เสียและลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง โดยปรับจาก 7.5% ต่อปี เป็น 3% ต่อปี โดยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
2.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจาก “7.5% ต่อปี” เป็น “อัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี” (เท่ากับ 5% ต่อปี)
3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น
4.กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.นี้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ แต่จะมีผลให้ข้อตกลงที่กำหนดให้เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมดตกเป็นโมฆะทันทีที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ
การแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งนี้จะมีผลทั่วไปสำหรับการกู้ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง สอดรับกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ซึ่งบังคับใช้กับสถาบันทางการเงินทุกแห่ง โดยรายละเอียดมีความแตกต่างกันบ้าง อาทิ การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% ต่อปี และการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้มีการระบุไว้แต่แรก
ต่อเรื่องนี้ “อรอนงค์ อุดมก้านตรง”ผู้บริหารกลยุทธ์ธุรกิจรายย่อยและข้อมูลเชิงกลยุทธ์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความเห็นว่า ตามที่ทาง ธปท.ได้ออกประกาศบังคับใช้กับทางสถาบันการเงินทุกแห่ง ก็ได้มีการลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ซึ่งดีกับผู้บริโภค ส่วนอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่เคยมีการแก้ไขเลย ดอกเบี้ยเงินฝากแต่ก่อนก็สูงมากกว่า 8% ต่อปี แต่ปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ต้นทุนทางการเงินก็ไม่ได้มากขนาดนั้น การแก้ไขกฎหมายใหม่นี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ให้มีความชัดเจน และมีความทันสมัยมากขึ้น
สอดคล้องกับ “พีรภัทร ฝอยทอง”ทนายความและนักวางแผนการเงิน ระบุว่า การแก้กฎหมายตัวนี้เป็นเรื่องที่ดี เป็นไปตามแนวทางของหลายประเทศ ที่สำคัญเลยตัวกฎหมายนั้นต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2468 ก็เกือบจะใช้ครบมา 100 ปีแล้ว ในสมัยก่อนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 10% ต่อปี แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถึง 1% ต่อปีแล้ว แต่ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ 7.5% ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งกฎหมายต้องมีการปรับปรุงไปตามยุคตามสมัย
ส่วนเรื่องการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ที่ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายใหม่ ทนายความและนักวางแผนการเงินรายนี้มองว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ เนื่องจากเป็นการกู้ระหว่างประชาชนด้วยกัน ไม่เหมือนกับสถาบันการเงินที่นอกจากจะมีการคิดดอกเบี้ยตามปกติแล้ว ยังมีการคิดค่าธรรมเนียม ค่าปรับต่างๆ มากมาย ที่ทาง ธปท.จะต้องออกหลักเกณฑ์มาเพื่อให้ทุกสถาบันการเงินมีแนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันทั้งหมด
“ขณะที่การกู้ยืมกันระหว่างประชาชนด้วยกันเอง วิธีการชำระหนี้นั้นก็แล้วแต่ตามตกลงกันในสัญญา แต่กฎหมายก็ระบุไว้ว่า ห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น และห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งมี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ระบุโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พีรภัทรทิ้งท้าย
Reference: หนังสือพิมพ์มติชน