แบงก์ ตรึง ดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้
”ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% มาสู่ 0.75% จากระดับ 0.50% เมื่อ 10 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อ 19 ธ.ค. 2561 หลักๆ เพื่อยึดเหนี่ยว คาดการณ์ “เงินเฟ้อ” ไม่ให้ไปไกล จนกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา ที่อาจทำให้เกิดการปรับขึ้นราคาสินค้า ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้า
”สมาคมธนาคารไทย” ออกมาประกาศทันที ว่า นโยบายด้านดอกเบี้ยของธนาคารสมาชิกจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอผลกระทบกับลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากหากดูลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการ ช่วยเหลือเดือนก.ค. พบว่ามีสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท หลังก่อนหน้าที่สถานการณ์ดีขึ้น โดยพ.ค. มีลูกหนี้ เข้าสู่มาตรการลดลงเหลือเพียง 1.6 ล้านบัญชี หรือยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท
ล่าสุดเริ่มเห็น ”ธนาคารพาณิชย์”ออกมาส่งสัญญาณ “ตรึง”ดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงเดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นที่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แบงก์แรกที่ประกาศเดินหน้าเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการเร่งด่วน อย่างตรงจุด ทันกาล และได้ผลจริงกับลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนระยะยาว
ตามมาด้วย ”ธนาคารกสิกรไทย” (KBANK) ที่ออกประกาศ ต่อยอด “โครงการรวมใจไม่ทิ้งกัน” โดยการลดยอด ผ่อนชำระหนี้ 10% เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กลุ่มธุรกิจ ควบคู่ไปกับลดภาระหนี้สำหรับกลุ่มรายย่อย พร้อมกับประกาศตรึงดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป
เช่นเดียวกันกับ ”ธนาคารไทยพาณิชย์” ก็ออกมาประกาศ “ตรึงดอกเบี้ย” โดย นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารจึงยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในทันที โดยขอติดตามข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจอีกครั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป
รวมถึงเดินหน้าช่วยเหลือด้วยมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน สำหรับรายย่อยและ ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มียอดขายน้อยกว่า 75 ล้านบาทต่อปี ทั้งผ่านการลดอัตราผ่อนและขยายระยะเวลาผ่อนผ่านกระบวนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน , การลดอัตราชำระหนี้
ตามด้วย ”ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต” TTB ที่ ประกาศ “ตรึงดอกเบี้ย” เช่นเดียวกัน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่าทีเอ็มบีธนชาต จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ลูกค้าธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง และรายได้ยัง ไม่กลับมาอยู่ในสภาวะปกติให้ได้รับ ผลกระทบน้อยที่สุด
โดยทีเอ็มบีธนชาตยัง “ตรึงอัตราดอกเบี้ย” เงินกู้ไว้ที่ระดับเดิม และยังคงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่มภายใต้โครงการ “ตั้งหลัก” จากที่ผ่านมา ที่มีการช่วยเหลือลูกหนี้ จากวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว 750,000 ราย
ขณะเดียวกัน ธนาคารเดินหน้าสนับสนุน “การออม” โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากพิเศษ ttb up & up โดยปรับดอกเบี้ยสูงสุดจาก 1.6% เป็น 1.8% และปรับยอดขั้นต่ำจาก 1แสนบาท เป็น 5 พันบาท เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาส รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย
ท้ายสุดคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ดำเนินนโยบายสอดรับกับแบงก์อื่นๆ โดย นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังเดินหน้า ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และจะติดตามสถานการณ์ ใกล้ชิด เพื่อหาทางเลือกและส่งมอบมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ตรงจุด ให้ลูกค้ากลับมาแข็งแกร่งได้ในระยะยาว
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ